วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรคกับโภชนาการ

โรคกับการโภชนาการ
โรคกับโภชนาการอาหารมีทั้งคุณและโทษแก่มนุษย์ การขาดอาหารทำให้เป็นโรคได้ และการกินอาหารมากไป หรือไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน ประเทศที่เจริญแล้วมักมีปัญหากินอาหารมากไป และประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนมักมีปัญหาขาดสารอาหาร ปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน
ความอ้วนเกิดจากการกินอาหารมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และ/หรือขาดการออกกำลังกาย ร่างกายจึงสะสมส่วนที่เกินไว้ในรูปของไขมัน

ถ้ากินอาหารเท่ากับที่ร่างกายต้องการจะมีน้ำหนักเท่าเดิม
ถ้ากินอาหารน้อยกว่าความต้องการน้ำหนักจะลดลง

คนที่อ้วนอาจกินอาหารปริมาณที่ร่างการต้องการพอดี แต่อดีตอาจเคยกินอาหารมาก ทำให้ร่างกายสะสมไว้หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นของเก่า ขณะนี้ โรคอ้วนเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพอย่างมาก

ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๐) มีประชาชนในโลกที่มีน้ำหนักเกิน (over weight) ถึงกว่า     ๑ พันล้านคน และในปี พ.ศ.๒๕๔๕ มีประชาชนที่อ้วนถึง ๓๐๐ ล้านคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.๒๕๔๗) พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปมีโรคอ้วน ๑ คนในทุก ๔ คน! หรือร้อยละ ๒๘ โดยผู้หญิงจะอ้วนมากกว่าผู้ชาย  นอกจากนั้น ยังพบว่าประชาชนมีโรคความดันเลือดสูงถึง ๑๐ ล้านคน!

โรคเบาหวานที่มีอาการแล้ว ๓ ล้านคน แต่รักษาควบคุมอาการได้เพียง ๔ แสนคน แต่ยังมีประชากรอีกประมาณ ๑๐ ล้านคน ที่ยังไม่เรียกว่าเป็นโรคเบาหวาน แต่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

ค่าปกติของน้ำตาลควรอยู่ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าสูงระหว่าง ๑๐๑-๑๒๕ ถือว่าสูงผิดปกติ ถ้าสูง ๑๒๖ ขึ้นไป (ช่วงอดอาหารเย็นมาแล้ว ๑๒ ชั่วโมง) ๒ ครั้ง ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน)

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือมีการกินน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากคนละ ๑๒ กิโลกรัมในปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็น  ๓๐ กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี พ.ศ.๒๕๔๖!

การเพิ่มขึ้นของรอบเอวทุกๆ ๕ เซนติเมตรจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ๓-๕ เท่า เพราะไขมันที่สะสมไว้ที่พุง จะแตกตัวเป็นกรดไขมันเข้าสู่ตับ ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ในการสลายน้ำตาลในเลือดไม่ดี ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

การที่จะอ้วนหรือไม่อาจดูได้จากน้ำหนักตัว อัตราส่วน (ratio) ของเอวต่อสะโพก ความหนาของผิวหนัง (skin fold thickness) แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index (BMI) ซึ่งก็คือน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารความสูง (เป็นเมตร ๒ ครั้ง) เช่น ผู้ที่มี    น้ำหนักตัว ๗๐ กิโลกรัม และสูง ๑.๗๘ เมตร จะมี BMI เท่ากับ ๗๐ หาร ๑.๗๘ (๒ ครั้ง) นั่นคือ ๗๐ หาร ๑.๗๘ (๒ ครั้ง) ผลที่ได้คือ ๒๒.๐๙ ซึ่งถ้า BMI เป็น
น้อยกว่า ๑๘.๕ ผอมไป
๑๘.๕-๒๔.๙ กำลังดี
๒๕-๒๙.๙ น้ำหนักเกิน
มากกว่า ๓๐ อ้วน

แต่การใช้ BMI เป็นการวัดแบบคร่าวๆ ต้องดูโครงร่างด้วยว่าหนาหรือบาง ผู้ที่ยกน้ำหนักมากๆ อาจมี BMI สูง แต่เป็นเพราะมีกล้ามเนื้อมากไม่ใช่ไขมัน
ไขมันในร่างกายจะเกี่ยวข้องกับอายุและเพศ

การเรียกผู้ที่มี BMI ๒๕-๒๙.๙ เป็นเพียงผู้ที่มี    น้ำหนักเกิน จะทำให้คนจำนวนมากประมาท แต่ถ้าเรียกว่าอ้วนพวกเขาจะระวังหรือมีมาตรการลดน้ำหนักมากกว่านี้
 ชาวเอเชียรวมทั้งคนไทย มีโครงสร้างร่างกายบอบบาง องค์การอนามัยโลกจึงให้ค่าปกติของ BMI อยู่ระหว่าง ๑๘.๕-๒๓ เท่านั้น ระหว่าง ๒๓-๒๔.๙ จะถือว่าน้ำหนักเกิน (over weight) เกิน ๒๔.๙ จึงจะถือว่าอ้วน (obese)

การที่คนไทยมีค่า BMI ปกติที่ต่ำ คือไม่เกิน ๒๓ นั้นถือว่าเป็นของดี จะมีส่วนทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคจากภัยอ้วนน้อยลง ไขมันที่ท้องจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ แต่ไขมันที่สะโพกไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องมากนัก ฉะนั้นการวัดรอบเอวจะมีความหมายมากสำหรับโรคหัวใจ

ผู้ชายไทยควรมีพุงไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร
ผู้หญิงไทยไม่ควรเกิน ๘๐ เซนติเมตร
ถ้าดูแลพุงร่วมกับการดูแลดัชนีมวลกายไม่ให้เกิน ๒๓ จะเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดันเลือด โรคเมแทบอลิซึม โรคมะเร็งบางชนิด

เพื่อสุขภาพของทุกคน ควรกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างถูกต้อง

ขอขอบพระคุณ นพ.พินิจ กุลละวณิชย์์ กรรมการบริหารแพทยสภา (ผู้เขียน) และมูลนิธิหมอชาวบ้าน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลในการเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หายใจช้าๆสลายความเครียด

หายใจ ช้า...ช้า...ช้า...
ลดความดันเลือด พาจิตผ่อนคลาย สลายความเครียด
การหายใจช้า จะลดการทำงานระบบ "สู้" และเพิ่มการทำงานของระบบประสาท "พัก" หัวใจจะเต้นช้าลง ความดันเลือดก็ลดลงด้วย

ทำไมต้องหายใจช้า
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมาสนใจการ หายใจ ในเมื่อเราก็หายใจอยู่ตลอดเวลาของมันเองอยู่แล้ว ใครๆ ก็หายใจได้ โดยไม่เคยหยุดเลยมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าหลับหรือตื่น ถ้าเราปกติดีไม่เห็นต้องไปสนใจด้วยซ้ำว่าหายใจอยู่หรือเปล่า เข้าหรือออก เร็วหรือช้า

แต่ถ้าเรามีอาการหายใจไม่สะดวก หรือเหนื่อย หายใจไม่ "ออก" (แต่บางครั้งหมายถึงหายใจไม่ "เข้า" หายใจไม่อิ่ม ไม่เต็มปอดมากกว่า) เราจะรู้สึกว่า เราหายใจ "เร็ว" หรือติดขัด ไม่สบายกว่าปกติ เราถึงจะเห็นความสำคัญของการหายใจ

การหายใจ "เร็ว" จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยอย่างหนึ่งของเรา
การแพทย์ตะวันตก ถือการหายใจเป็น ๑ ใน ๔ "สัญญาณชีพ" ของคนเราคือ เป็นตัวบอกให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีสัญญาณชีพ (เช่น หมดลมหายใจ หัวใจหยุดเต้น) ก็ไม่มีชีวิต ถ้าสัญญาณชีพผิดปกติไปมาก ก็แสดงว่า กำลังจะไม่มีชีวิต สัญญาณชีพอีก ๓ ชนิด ได้แก่ อุณหภูมิ ชีพจร (การเต้นของหัวใจ) และความดันเลือด
ในบรรดาสัญญาณชีพทั้ง ๔ สัญญาณชีพที่เราควบคุมให้เร็ว ช้า เบา แรง สูง ต่ำ ได้ดีที่สุด คือ "การหายใจ" คนทั่วไปควบคุมอุณหภูมิ การเต้นหัวใจและความดันเลือดไม่ได้ หรือควบคุมได้ยาก แม้แต่การหายใจที่ควบคุมได้ง่ายกว่า ยังควบคุมไม่ได้ดั่งใจเราเลย เรายังหายใจ เร็วบ้าง ช้าบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวตลอดวันตลอดคืน นับภาษาอะไรกับการเต้นหัวใจ ความดันเลือด ที่เราควบคุมไม่ได้ จะขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวันเหมือนกัน

ศาสตร์โบราณทางตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น แพทย์แผนจีน ไทย อายุรเวท โยคะ ชี่กง ไท้เก้ก แม้แต่ในศาสนกิจของแทบทุกศาสนา เช่น สวดมนต์ เจริญสมาธิ จงกรม ให้ความสำคัญเรื่องการหายใจมาก เพราะถือว่าลมหายใจกับลมปราณ หรือพลังชีวิต หรือชี่ มีความสำคัญเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ลมหายใจเป็น กายสังขารŽ ปรุงแต่งกายได้ (เช่น ถ้าเราหายใจเร็วๆ แรงๆ เราจะรู้สึกไม่สบาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น แต่ถ้าหายใจ ช้าๆ เบาๆ จะรู้สึกสบายผ่อนคลาย หัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง) ซึ่งตรงกับหลักฐาน วิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์มากมายในระยะหลังว่า
การหายใจเร็วจะเพิ่มการทำงานของระบบประสาท "สู้" (sympathetic) ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น
การหายใจช้าจะลดการทำงานระบบ "สู้" และเพิ่มการทำงานของระบบประสาท "พัก" หัวใจจะเต้นช้าลง ความดันเลือดก็ลดลงด้วย
ดังนั้น ทั้งภูมิปัญญาโบราณ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ต่างเห็นตรงกันว่า การหายใจช้า น่าจะได้ประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบัน

หายใจช้า ลดความดันเลือด
เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้สร้างเครื่องมือฝึกหายใจช้าขึ้น ที่เรียกว่า Resperate เป็นเครื่องที่ช่วยให้เรารู้ว่า เราหายใจกี่ครั้งต่อนาที แล้วให้เราหายใจตามเสียงเพลง เสียงหนึ่งให้หายใจเข้า อีกเสียงหนึ่งให้หายใจออก เสียงเพลงจะยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราหายใจยาวขึ้นหรือช้าลง ให้ช้ากว่า ๑๐ ครั้งต่อนาที ฝึกวันละอย่าง  น้อย ๑๕ นาที เป็นเวลา ๒ เดือนขึ้นไป จะสามารถลดความดันเลือดตัวบนในผู้ป่วยความดันเลือดสูงได้ประมาณ ๑๔ มิลลิเมตรปรอท ตัวล่างลดลงประมาณ  ๙ มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับผู้ที่ฟังเสียงโดยไม่ได้ฝึกหายใจ ความดันเลือดตัวบนลดลงประมาณ ๗ มิลลิเมตรปรอท ตัวล่างลดลงประมาณ ๔ มิลลิเมตรปรอท

จากการศึกษาในผู้ป่วย ๗ การศึกษา ทำให้เครื่องฝึกหายใจนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาให้ใช้ร่วมกับการรักษาความดันเลือดสูงอื่นได้ อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าในผู้ป่วยความดันเลือดสูงที่เป็นเบาหวาน การใช้เครื่องฝึกหายใจ ช้า ลดความดันเลือดได้ไม่แตกต่างจากการฟังเพลงโดยไม่ได้ฝึกหายใจ
มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่าศาสตร์โบราณ เช่น โยคะ ชี่กง ช่วยลดความดันเลือดในผู้ป่วยความดันเลือดสูงได้ และยังช่วยลดน้ำตาล และน้ำตาลสะสมในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฝึก ดังนั้น ในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นความดันเลือดสูงด้วย   น่าจะได้ประโยชน์จากการฝึกศาสตร์โบราณเหล่านี้ ร่วมกับการหายใจช้า โดยอาจไม่ต้องใช้เครื่องฝึกหายใจช้า
หายใจช้า เหนื่อยน้อยลง
การศึกษาในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ที่มีอาการเหนื่อย หอบกว่าปกติ เปรียบเทียบการฝึกหายใจประมาณ ๗ ครั้งต่อนาที เทียบกับหายใจประมาณ ๑๓ ครั้งต่อนาที พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มหายใจช้า มีอาการเหนื่อยน้อยกว่า ปริมาณออกซิเจน และการใช้ออกซิเจน ดีกว่า กลุ่มหายใจเร็วกว่า นอกจากนั้น ยังพบว่าการหายใจช้า ๖ ครั้งต่อนาที เทียบกับ ๑๕ ครั้งต่อนาที จะทำให้การตอบสนองทางระบบประสาทของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว  ดีขึ้น (baroreflex sensitivity)
หายใจช้า หายเหนื่อย หายเครียด
ความเครียดที่เกี่ยวข้องการเกิดโรคความดันเลือดสูง ได้แก่ การมุ่งมั่น ทำงานแข่งกับเวลา รอไม่เป็น (time urgency, impatient) และความพยาบาทมาดร้าย เก็บกดความโกรธเกลียดคนอื่น (hostility, anger suppression) ซึ่งเป็นผลทำให้ร่างกายอยู่ในระบบ "สู้" ความดันเลือดสูงตามมา การผ่อนคลายความเครียด และการหายใจช้า ช่วยให้ความดันเลือดลดลงได้ โดยการลดความเครียดเหล่านี้ โดยทำให้ระบบ "พัก" ของเราทำงานมากขึ้น
นอกจากนี้ ความเครียดยังเกี่ยวข้องการเกิดการเต้นหัวใจผิดจังหวะ ถ้าเกิดรุนแรงอาจเสียชีวิตเฉียบพลัน

การศึกษาการเสียชีวิตในประเทศเยอรมนี ในช่วงแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดปี พ.ศ.๒๕๔๙ พบว่า ชาวเยอรมันโดยเฉพาะผู้ชาย เกิดภาวะฉุกเฉินทางหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันเพิ่มขึ้นสองเท่ากว่า ในช่วงการแข่งขันเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ได้มีการแข่งขัน โดยเฉพาะ ๘ นัดที่เยอรมันแข่ง มีการเกิดอาการพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้น คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิด เช่น เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันผิดปกติ สูบบุหรี่ อ้วนลงพุง ควรระวังภาวะความเครียดเฉียบพลันโดยการฝึกการหายใจช้า ผ่อนคลายความเครียด มิฉะนั้น อาจเกิดอันตรายจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่าย
เวลาที่เรารู้สึกเครียด หรือเหนื่อยใจ ลองนั่งพักสบายๆ หายใจให้ช้าลงๆ ร่างกายเราจะผ่อนคลาย ใจจะสบายขึ้น อาการเหนื่อย เครียด จะค่อยๆ ผ่อนเบาลง
หายใจช้า ลดอาการเจ็บปวด
การศึกษาผู้ป่วยหลังผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ   ที่ต้องเอาท่อระบายช่วงอกออก หลังการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยที่ฝึกหายใจลึกๆ ช้าๆ จะใช้ยาแก้ปวดน้อยกว่า    ผู้ที่ไม่ได้ฝึกหายใจ เชื่อว่า การหายใจช้า ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ลดอาการปวดจากร่างกายได้
หายใจช้า อย่างไรดี
นอกจากฝึกหายใจช้ากับเครื่องฝึกหายใจแล้ว เราสามารถฝึกหายใจได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ และ ทุกบุคคล เพียงแต่หาเวลา สถานที่ที่สงบสบาย ไม่มีใคร หรือเสียงมารบกวน นั่งสบายๆ หลับตา ฟังเสียงธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา แล้วตามดูลมหายใจเข้า ออกอยู่ตลอดเวลา เมื่อร่างกายผ่อนคลาย ใจปล่อยวางจากความคิด ความจำ จนสมองโล่งโปร่งสบาย เราจะรู้สึกว่าเราหายใจช้าเองโดยธรรมชาติ

ถ้าอยากจะรู้ว่าหายใจช้ากว่า ๑๐ ครั้งต่อนาทีหรือไม่ ก็ลองนับการหายใจเข้าออกดู หายใจเข้า นับ หนึ่ง สอง สาม หายใจออก นับ สี่ ห้า หก เจ็ด โดยนับห่างกันประมาณ ๑ วินาที

หลักในการหายใจช้า เพื่อลดความดันเลือดคือ "ช้า เบา ยาว ลึก" หายใจช้ากว่า ๑๐ ครั้งต่อนาที หรือหายใจเข้าออกแต่ละครั้งให้นานกว่า ๖ วินาที หายใจเข้า ออก เบาๆ ไม่ถอน หรือหายใจแรงๆ ยึดลมหายใจออกให้ยาวขึ้นๆ เรื่อยๆ แล้วลมหายใจเข้าจะยาวตามไปเอง หายใจเข้าให้เข้าไปเต็มปอด ๒ ข้าง ช้าๆ เบาๆ จนสุดเต็มที่ กลั้นหายใจสักพัก พอทนได้ แต่ค่อยๆ ผ่อน     ลมหายใจออกช้าๆ เบาๆ ทำแบบนี้ติดต่อกันอย่างน้อย ๑๕ นาทีต่อวัน หรือเวลาไหนก็ได้ที่มี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ "โรคร้ายแห่งการพอกพูนสะสม" บทที่ ๗ หายใจช้า พาจิตผ่อนคลาย)
ทำไม หายใจช้า วันละแค่ ๑๕ นาที ทำให้ความดันเลือดลดลงได้ทั้งวัน
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ป่วยโรคความ-     ดันเลือดสูงส่วนใหญ่ ความดันเลือดจะค่อยๆ สะสมสูงขึ้นๆ หรือ ขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวัน เช่น ตื่นเช้า ความดันเลือดจะสูงขึ้นกว่าขณะนอนหลับ เจอเรื่องไม่ถูกใจ เรื่องเครียด เรื่องที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ทั้งวัน ความดันก็สะสมค่อยๆ สูงขึ้น แต่ถ้าเจอเรื่องเครียด หนักๆ หน่อย หรือเครียดทั้งวัน เครียด ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง ความดันเลือดก็อาจสูงขึ้นเร็ว หรือสูงทั้งวัน

ดังนั้น ผู้ที่เคยฝึกหายใจช้าจนช่ำชอง รู้จักการหายใจช้าเป็นอย่างดีว่า เป็นอย่างไร จะ รู้ตัวŽ ได้ เมื่อเวลาเครียด แล้วหายใจเร็ว (หรือเครียดแบบรู้ตัว) มากขึ้น ทุกครั้งที่เราเครียด หายใจเร็ว เราก็จะรู้ว่าความดันเลือด กำลังขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็หายใจให้ช้าลงๆ ถ้าเราทำได้บ่อยๆ ทั้งวัน ความดันเลือดก็จะลดลงได้ทั้งวัน

นอกจากนี้ หายใจช้า บ่อยๆ ทำให้กายผ่อนคลาย ใจปล่อยวาง ความสงบสุขในใจจะเกิดขึ้น สมรรถภาพการทำงานของสมอง ของใจจะดีขึ้น ก็จะพาให้เข้าใจได้ว่า ทำไมเราเครียด แล้วหาทางกำจัดสาเหตุของความเครียดในตัวเรา หรือหาทางคลายเครียดอื่นๆ ได้ดีขึ้น
ถ้าคนไทยหายใจช้าและลดความดันเลือดได้แค่ ๒ มิลลิเมตรปรอท จะลดโอกาสการเสียชีวิตจากอัมพฤกษ์
การหายใจเร็วเร็วจะเพิ่มการทำงานของระบบประสาท "สู้" ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น}
หายใจช้า... ลดโอกาสการเสียชีวิต จากอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ๖ เปอร์เซ็นต์
หายใจช้า...ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ๔ เปอร์เซ็นต์ }

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน และนพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ (ผู้เขียน) สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สารต้านอนุมูลอิสระ


สารต้านอนุมูลอิสระ จำเป็นต่อร่างกายอย่างไร
"อาหาร" จัดได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญโดยมีบทบาทในการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งผลการศึกษาจากงานวิจัยทางคลินิกและระบาดวิทยา (เป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากเพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อกัน เช่น ปัจจัยเรื่องอาหารกับการเกิดโรคเบาหวาน เป็นต้น) ได้ยืนยันว่า การบริโภค ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีและพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ นั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่กล่าวถึงข้างต้นได้
สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร
ในทางเคมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)  คือ สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น กระบวนการออกซิเดชั่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น กระบวนการออกซิเดชั่นที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม ทำให้แอปเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือทำให้น้ำมันพืชเหม็นหืน หรือกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกาย เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป มลพิษทางอากาศ การหายใจ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายของเราซึ่งสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้ ในความเป็นจริงไม่มีสารประกอบสารใดสารหนึ่งสามารถป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้ทั้งหมด แต่ละกลไกอาจต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันในการหยุดกระบวนการออกซิเดชั่น ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการออกซิเดชั่นเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น เราใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปไปเผาผลาญอาหารที่ร่างกายได้รับให้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานของเซลล์ต่างๆ แต่ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเป็นผลพลอยได้ อนุมูลอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน ดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อโมเลกุลดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เมื่ออนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับแอลดีแอล (LDL : low-density  lipoprotein) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลตัวเลวทำให้เกิดออกซิไดซ์แอลดีแอล (oxidized LDL) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่า ออกซิไดซ์แอลดีแอลเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ (ภาพที่ ๑-๕)

อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายเนื่องจากมีมูลเหตุจากออกซิเจน จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า reactive oxygen species (ROS) อนุมูลอิสระที่สำคัญ ได้แก่
ซูเปอร์ออกไซด์ แอนไอออน (superoxide anion) O2-l
ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide); H2O2
ไฮดรอกซิลแรดดิเคิล (hydroxyl radical); lOH

บทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระ
ทำไมการที่สารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันหรือกำจัดอนุมูลอิสระได้จึงมีความสำคัญ มีงานวิจัยมากมายบ่งชี้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง (เช่น อัลไซเมอร์) เป็นต้น รวมทั้งช่วยชะลอกระบวนการบางขั้นตอนที่ทำให้เกิดความแก่โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะทำอันตราย แต่ถ้ามีการสร้างอนุมูลอิสระเร็วหรือมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดทัน อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สารต้านอนุมูลอิสระลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ ๒ ทาง คือ
๑. ลดการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกาย
๒. ลดอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ
แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว แต่สามารถชะลอให้ความเสียหาย เกิดช้าลงได้โดยเฉพาะโรคเรื้อรังซึ่งเป็นผลลัพธ์สะสมที่เกิดจากเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำอันตรายและเสียหายเป็นปีๆ (โดยมากเป็นเวลาหลายสิบปี) เห็นได้จากการรวบรวมความชุกของโรคว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นมากในผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ ดังนั้นบุคคลทุกเพศทุกวัยจึงควรได้รับสารต้านอนุมูลอิสระให้พอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกายระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น
สารต้านอนุมูลอิสระได้แก่อะไรบ้างและมีในอาหารประเภทใด
สารต้านอนุมูลอิสระหรือสารแอนติออกซิแดนซ์ (antioxidants) ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม บีตาแคโรทีน วิตามินเอ พฤกษาเคมีต่างๆ (phytochemicals) เช่น สารประกอบฟีโนลิก (polyphenol) จากชาและสมุนไพรบางชนิด ไอโซฟลาโวน (isoflavones) จากถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงกับความต้องการ เราควรกินผักผลไม้สีเข้มเป็นประจำโดยล้างให้สะอาดทุกครั้ง นอกจากจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังจะได้รับใยอาหารด้วย ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับใยอาหารเช่นกัน เนื่องจากใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ ช่วยป้องกัน อาการท้องผูก ช่วยนำโคเลสเตอรอลออกจากร่างกาย เร่งการนำสารพิษที่อาจทำให้เป็นมะเร็งบางชนิดออกจากร่างกายเร็วขึ้น สุดท้ายผู้เขียนขอแนะนำข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยดังนี้
ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
๑. กินผัก ผลไม้ ถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลือง เช่น (เต้าหู้หลอด เต้าหู้แผ่น) และธัญพืชเป็นประจำ
๒. ลดการกินไขมัน อย่าให้เกิน ร้อยละ ๓๐ ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน ลดไขมันจากสัตว์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มีกรดไขมันกลุ่มทรานส์แฟตตีแอซิด (trans fatty acid) เช่น มาร์การีน เนยขาว โดนัต มันฝรั่งทอด เลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) สูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันมะกอก
๓. กินอาหารให้หลากหลาย กินปลา ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ ลดปริมาณเนื้อแดงที่บริโภคลง
๔. ลดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ไม่ควรกินเกินวันละ ๓๐๐ มิลลิกรัม
๕. เพิ่มการกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว ธัญพืช มันฝรั่ง
๖. ลดอาหารเค็ม ดื่มน้ำสะอาดวันละ ๑-๒ ลิตร
๗. ดื่มนมพร่องไขมัน
๘. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
๙. ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
๑๐. งดสูบบุหรี่และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์
อย่าลืม ออกกำลังกายทุกวันโดยไม่หักโหม

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ ผศ.ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์ (ผู้เขียน)

อาหาร 5 สีเพื่อสุขภาพที่ดี

กินตามสี อาหารเพื่อสุขภาพ ๕ สี

ปัจจุบันประชากรในประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ไม่ประสบปัญหาการขาดธาตุอาหาร ๕ หมู่ อันได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินอีกต่อไป แต่ประชากรดังกล่าวก็ยังมีโรครุมเร้าอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันเลือดสูง โรคข้อเข่า เบาหวาน ความจำเสื่อม เป็นต้น
กลุ่มสีต่างๆ ของผักและผลไม้
สีน้ำเงิน สีม่วง แดง 
กะหล่ำปลีสีม่วง  มันสีม่วง  เผือก  องุ่นแดง 
ชมพู่มะเหมี่ยว  ชมพู่แดง  ลูกหว้า  ลูกไหน 
ลูกพรุน  ลูกเกดข้าวแดง  ข้าวนิล  ข้าวเหนียวดำ
ถั่วแดงและถั่วดำ  มะเขือม่วง  หอมแดง
หอมหัวใหญ่สีม่วง  บลูเบอร์รี่  น้ำดอกอัญชัน
สีเขียว 
ผักคะน้า  ผักบุ้ง  ผักโขม  ผลอะโวกาโด 
เมล็ดข้าวโพด  ไข่แดงกะหล่ำปลี  ผักกาดขาว
บวบ  หน่อไม้ฝรั่ง  ถั่วพู  ขึ้นฉ่าย  กุยช่าย
ชะอม  ใบช้าพลู  ใบทองหลาง  ใบย่างนาง
สะตอ
สีขาวถั่วเหลือง  ลูกเดือย  ขิง 
ข่า  เมล็ดงา  แอปเปิ้ล 
ฝรั่ง  แก้วมังกรหน่อไม้ 
พุทรา  ลางสาด  แห้ว
ลองกอง  เงาะ  ลิ้นจี่ 
ละมุด
สีเหลือง/สีส้มแครอต  ขนุน  ลูกพลับ  สับปะรด  มะนาว 
มะยม  มะม่วง  ทุเรียน  ขมิ้นชัน  เสาวรส
สีแดง
ชมพู่  ปลาแซลมอน  กุ้ง  ปู  มะเขือเทศ 
แตงโม  ส้มโอ  ฝรั่ง  มะละกอสีแดง 
ดอกกระเจี๊ยบ  สตรอเบอร์รี่  เชอร์รี่ 
เมล็ดทับทิม  หัวบีด  ผลแก้วมังกร 
ดอกเฟื่องฟ้า  ตำลึง  ตะขบ
การดูแลผู้ป่วยโรคเหล่านี้ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีการหายจากโรคอย่างแน่ชัด จึงเกิดมีกระแสการใช้บริการการแพทย์ทางเลือกในประเทศแถบตะวันตก มากขึ้น และเกิดความพยายามที่จะดูแลสุขภาพตนเองโดยใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ที่มาจากธรรมชาติ งานวิจัยทางเคมี ชีวเคมี เภสัชวิทยา และชีววิทยาโมเลกุลตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อ (noncommunicable disease) และเสนอแนวทางแก้ไขโรคดังกล่าวให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากพืชอาหารและสมุนไพรแบบตะวันออก เช่น จากประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น มาใช้ในประเทศซีกโลกตะวันตก เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยมากมายด้านระบาดวิทยาของการเกิดโรค พบว่ากลุ่มคนที่ปลอดโรคมีการกินอาหารเฉพาะบางชนิด การศึกษาอาหารดังกล่าวพบสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น ชาวฝรั่งเศสที่ดื่มไวน์แดง มีภาวะการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันต่ำ ทั้งที่กินอาหารอุดมด้วยไขมันหลากชนิดตลอดเวลา พบว่าสารเรสเวอราทรอลในเปลือกองุ่นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบ การดื่มไวน์แดงที่มีสารเรสเวอราทรอลจึงป้องกันการเกิดอาการของโรคดังกล่าวในคนกลุ่มเสี่ยงนี้ได้
อาหารเป็นยา
ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการศึกษาสารอาหารปริมาณน้อยจากพืชที่มีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ผลการวิจัยจากแหล่งต่างๆ ในหลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า พืชจำนวนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเมืองร้อน) มีสารอาหารที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนเราได้ การกินผักและผลไม้หลายชนิดได้รับสารอาหารหลากหลายจะสามารถชะลอได้ทั้งความแก่และลดการเกิดโรคไม่ติดต่อที่ป้องกันได้

ฮิปโปคราตีสได้กล่าวไว้ว่า "จงให้อาหารของท่านเป็นยารักษาโรค และจงให้ยารักษาโรคเป็นอาหารของท่าน"
เราควรกินอย่างไรให้อาหารป้องกันและ/หรือรักษาโรคให้กับเรา คำตอบคือ กินให้ครบ ๕ สี การกินผักและผลไม้ให้ครบ ๕ สี จะทำให้ได้รับสารอาหารที่เสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ครบถ้วนโดยสามารถแบ่งพืชผักและอาหารที่มีสีตามธรรมชาติได้เป็น ๕ กลุ่มสี ดังนี้
สีน้ำเงิน สีม่วง และสีแดง
สีน้ำเงิน สีม่วง และสีแดง บางชนิดเกิดจากสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) เป็นโมเลกุลให้สีที่มีส่วน ประกอบสองส่วนคือ แอนโทไซยาไนดิน (anthocya-  nidin) และน้ำตาล แอนโทไซยานินมีหน้าที่ปกป้องผักและผลไม้จากการทำลายของรังสีอัลตราไวโอเลต มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การวิจัยพบว่าสารกลุ่มแอนโทไซยานินมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันแอลดีแอล และยังทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม การกินผักและผลไม้ที่มีสีน้ำเงินและสีม่วงจึงสามารถชะลอการเกิดโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวได้ ในประเทศไทยมีการใช้น้ำคั้นดอกอัญชันช่วยปลูกผมปลูกคิ้ว เชื่อว่าน้ำคั้นจากดอกอัญชันทำให้ผมดกดำได้  สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันเพิ่มความสามารถในการมองเห็นหรือชะลอการเสื่อมของดวงตา เนื่องจากสารดังกล่าวเพิ่มความสามารถการไหลเวียนในหลอดเลือดเล็กๆ ส่วนปลายทำให้มีเลือดมาเลี้ยงรากผมและดวงตาได้ดีขึ้นนั่นเอง ดอกอัญชันสามารถกินสดแกล้มน้ำพริกหรือต้มน้ำดื่มก็ได้

แอนโทไซยานินสีม่วงจากพืชตระกูลบลูเบอร์รี่ ถูกใช้เพื่อเสริมสมรรถภาพการมองเห็นและลดปัญหาที่เกิดกับระบบการหมุนเวียนของเลือด ในลักษณะเดียวกับการใช้น้ำคั้นอัญชันมาเป็นเวลานาน มีการใช้ในผู้ป่วยเบาหวานและแผลในกระเพาะอาหาร จึงมีคุณสมบัติต้านการเกิดมะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตาย และต้านการเกิดสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง พืชที่มีแอนโทไซยานินมักพบสารกลุ่มโพลีฟีนอลด้วย  สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอสภาวะเสื่อมของเซลล์ อาหารที่มีสีน้ำเงินและสีม่วง ได้แก่ กะหล่ำปลีม่วง มันสีม่วง องุ่นแดง ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แดงอื่นๆ ลูกหว้า ลูกไหน ลูกพรุน ลูกเกด ข้าวแดง ข้าวนิล ข้าวเหนียวดำ ถั่วแดงและถั่วดำ มะเขือม่วง หอมแดง หอมหัวใหญ่สีม่วง บลูเบอร์รี่ น้ำดอกอัญชัน น้ำว่านกาบหอย มันต้มสีม่วง และเผือก
สีเขียว
พืชผักสีเขียวนอกจากจะอุดมไปด้วยคลอโรฟีลล์แล้วยังมีสารประกอบอื่นๆ เช่น ลูทีน (lutein) อินโดล (indole) และไทโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพหลายประการ ลูทีนเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ เป็นสารต้าน อนุมูลอิสระ พบในผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักโขม ผลอะโวกาโด เมล็ดข้าวโพด และไข่แดง ลูทีนสามารถกรองแสงสีน้ำเงินที่มีพลังงานสูง ซึ่งเป็นเหตุก่อให้เกิดความเครียดเชิงอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อของอวัยวะ ที่รับแสง เช่น ดวงตาและผิวหนัง ในจอประสาทตาส่วนกลางมีรงควัตถุสีเหลือง มีสารลูทีนและซีอาแซนทีน (zeaxanthine) อยู่ในปริมาณมาก พบว่าลูทีนลดอัตราการเสื่อมของจอประสาทตา (macular degeneration) อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอดในผู้สูงอายุได้ อินโดล-3-คาร์บินอล (I3C) ได้มาจากการสลายตัวของสารตั้งต้นเมื่อเนื้อเยื่อพืชถูกตัดหรือหั่นทำลาย โดยพบในบร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี และดอกกะหล่ำ หัวไชเท้า และพืชอื่นในวงศ์นี้  สาร I3C มีฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งโดยเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์กำจัดสารพิษและสารก่อกลายพันธุ์ในตับทำให้มีเอนไซม์กำจัดสารพิษมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า  I3C กระตุ้นการสังเคราะห์สาร 2-ไฮดรอกซีเอสโทรน สารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันแอลดีแอ และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ คุณสมบัตินี้เองที่ทำให้ I3C มีฤทธิ์ ต้านการหนาและแข็งตัวของหลอดเลือด และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
ซัลโฟราเฟน (sulforaphane) เป็นสารไทโอไซยาเนต ได้มาจากการถูกไฮโดรไลซ์ของสารกลูโคราฟานิน (glucoraphanin) จากพืชวงศ์กะหล่ำปลีเมื่อถูกบริโภค พบมากในต้นอ่อนของบร็อกโคลี่ (ถั่วที่งอกจากเมล็ด) และบร็อกโคลี่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ขับสารพิษในตับได้เป็นอย่างดี ซัลโฟราเฟนกระตุ้นเซลล์ให้มีสภาวะคุ้มกันที่ดีต่อโรคต่างๆ เกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ทำให้อนุมูลอิสระหมดฤทธิ์ไปก่อนที่จะมีโอกาสทำความเสียหายให้กับเซลล์อันนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารก่อมะเร็ง และทำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งลำไส้ในสัตว์ทดลอง จึงนับเป็นสารป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ใบหม่อนซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสารรูทิน (rutin) ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดฝอย นอกจากนี้ใบหม่อนยังมีสาร คาทีชิน (catechin) ซึ่งพบในชาเขียว  ชาขาว แอปเปิ้ล และช็อกโกแล็ต คาทีชินเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดปริมาณไขมันแอลดีแอลในกระแสเลือด การกินใบหม่อนมีผลลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ และมีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของอินซูลิน นอกจากนี้แล้ว อย่าลืมกินผักและผลไม้สีเขียวชนิดอื่นๆ เช่น ผักกาดขาว บวบ แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือหลากชนิด ถั่วพูและถั่วฝักเขียวอื่นๆ ขึ้นฉ่าย กุยช่าย ชะอม ใบช้าพลู ใบทองหลาง ใบย่านาง สะตอ  เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม เพิ่มความสามารถในการทำงานให้ร่างกายอีกด้วย
สีขาว
พืชผักและผลไม้ที่มีสีขาว สีชา และสีน้ำตาลมีสารประกอบที่นักวิจัยทั่วโลกให้ความสนใจ สารที่พบในผักและผลไม้สีขาวได้แก่ สารประกอบกำมะถันจากกระเทียมและหอมหัวใหญ่ ฟลาโวนอยด์หลายชนิดเพ็กติน และเส้นใยจากผลไม้หลายชนิด
อัลลิซิน (allicin) เป็นสารให้กลิ่นและรสในกระเทียม ถูกสร้างขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อกระเทียมถูกกระทบกระเทือน เกิดได้ทั้งในกระเทียมสดและกระเทียมแห้งที่ได้รับความชื้น กระเทียมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด มีฤทธิ์ลดโคเลสเตอรอล และแอลดีแอลในเลือดจึงมีการใช้ในการควบคุมปริมาณไขมันในเลือด

เควอร์เซทิน (quercetin) และแคมป์ฟีรอล (kaempferol) เป็นสารฟลาโวนอยด์พบมากในหอมหัวใหญ่ ผลแอปเปิ้ล ต้นกระเทียม  ผลฝรั่ง และชาขาว/ชาเขียว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดหรือชะลอความเสียหาย ของเซลล์และอวัยวะในร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระดังกล่าว ลดการต้านอนุมูลอิสระของไขมันแอลดีแอล จึงลดหรือชะลอการแข็งตัวและอุดตันของหลอดเลือด ฟลาโวนอยด์ทั้งสองชนิดทำงานร่วมกันในการลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและลดการต้านยาในเซลล์มะเร็ง เมื่อมีเควอร์เซทินและแคมป์ฟีรอลยาฆ่าเซลล์มะเร็งจะออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของร่างกาย จึงอาจใช้ในการลดหรือควบคุมน้ำหนักได้

ไอโซฟลาโวน (isoflavone) พบในถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (มักจะมีสีขาว) สารดังกล่าวได้แก่ เจนิสทีอิน (genistein) และเดดซีอิน (daidzein)  มีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนอย่างอ่อน เรียก ไฟโตเอสโตรเจน ในประเทศญี่ปุ่นมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านม  มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำ สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการได้รับไฟโตเอสโตรเจนที่อยู่ในผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง นอกจากนี้แล้วสารกลุ่มนี้ยังเสริมการเพิ่มปริมาณไขมันเอชดีแอล และลดปริมาณแอลดีแอลในเลือดอีกด้วย

แซนโทน (xanthone) เป็นกลุ่มของฟลาโวนอยด์หลายชนิด พบในเนื้อสีขาวและเปลือกของผลมังคุด สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ต้านจุลชีพหลายชนิด เช่น เชื้อวัณโรค ต้านเซลล์มะเร็งเม็ด เลือดขาว และรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้อยู่ในสภาพที่ดี สามารถช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมได้  ปัจจุบันมีการจำหน่ายสารสกัดและเครื่องดื่มแซนโทนจากมังคุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

ลูกเดือย เป็นธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายโพลีฟีนอลหลายชนิดในลูกเดือย เช่น กรดไซแนปปิก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลูกเดือยใช้เป็นยาในตำราการแพทย์จีนมานาน โดยใช้รักษาโรคมะเร็งและอาการอื่น ปัจจุบันมีการทดลองใช้สารสกัดไขมันจากลูกเดือยในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ขิงและข่า เป็นพืชอาหารที่มีฤทธิ์เสริมสุขภาพและรักษาโรค สาร 6-จิงเจอรอล (6-gingerol) เป็นสารประกอบฟีนอลจากขิง  มีฤทธิ์ต้านอักเสบ สารจากขิงมีฤทธิ์ต้านการรวมตัวของเกล็ดเลือดและเพิ่มการสลายไฟบริโนเจน และมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันดีเท่ากับวิตามินซี ลดปริมาณไขมันในเลือด การกินขิงจึงเหมาะสำหรับการดูแลความดันเลือด และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน  เหง้าข่ามีสารกาลานาล เอ และบี (galanal A, B) มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมีสารต้านการ หลั่งฮิสตามีนซึ่งควรช่วยบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ได้

เมล็ดงา (มีทั้งสีขาวและสีดำ) มีสารลิกแนน เซซามิน (sesamin) เซซาโมลิน (sesamolin) และสารอื่นเช่น เซซามีออล (sesameol) เมล็ดงามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  เพิ่มปริมาณวิตามินอีในร่างกายโดยลดการสลายวิตามินดังกล่าว การกินเมล็ดงาในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถลดปริมาณไขมันในกระแสเลือดใช้ลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดได้
กรดไฟติก (phytic acid) หรือ พบในธัญพืชและเมล็ดถั่ว พบมากในจมูกข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มีคุณสมบัติดูดจับโมเลกุลของโลหะ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดโคเลสเตอรอล และมีฤทธิ์ลดไขมันและปริมาณน้ำตาลในเลือด

ซาโพนิน (saponin) เป็นสารที่พบได้ในถั่วเหลือง ถั่วลูกไก่ และเมล็ดถั่วอื่นๆ มีรายงานฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซาโพนินดังกล่าวถูกย่อยสลายโดยจุลชีพในลำไส้ใหญ่  การกินเมล็ดพืชตระกูลถั่วจึงอาจป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

เพ็กติน เป็นเส้นใยละลายน้ำได้ เช่นที่พบในผลแอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร และผลไม้อื่นที่ทำแยมได้ มีความสามารถจับกับน้ำตาลและปลดปล่อยโมเลกุล น้ำตาลสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่ ผลข้างเคียงคือลดความอยากอาหารให้ความรู้สึกอิ่มหลังกิน จึงใช้ในการควบคุมน้ำหนักได้ นอกจากนี้ ยังควรกินกล้วย สาลี่ เห็ด หน่อไม้ พุทรา ลางสาด แห้ว ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่ ละมุด เมล็ดแมงลัก รวมถึงผัก ผลไม้สีขาวและสีน้ำตาลชนิดอื่นๆ อีกด้วย
สีเหลือง/สีส้ม  พืชผักที่มีสีเหลืองและสีส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระหลากชนิด เช่น วิตามินซี  แคโรทีนอยด์ และสารฟลาโวนอยด์ อาหารกลุ่มนี้จะช่วยรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด สายตา ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และดูแลสุขภาพระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ได้แก่ บีตา-แคโรทีน แอลฟา-แคโรทีน และ บีตา-คริปโทแซนทิน บีตา-แคโรทีน และ แอลฟา-แคโรทีน  แคโรทีนคือโมเลกุลของวิตามินเอที่ต่อกัน ๒ โมเลกุล บีตา-แคโรทีน เป็นสารสีส้มในแครอต มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมประสิทธิภาพของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ซ่อมแซมสารพันธุกรรมได้ แอลฟา-แคโรทีนมีฤทธิ์ต้านมะเร็งสูงกว่าที่พบในบีตา-แคโรทีน ช่วยกระตุ้นการ กำจัดเซลล์มะเร็งของร่างกาย

บีตา-แคโรทีน พบในแครอต ฟักทอง แตงไทย  มะละกอ มะม่วง แคนทาลูป สตรอเบอร์รี่ พริก ขนุน

แอลฟา-แคโรทีน พบในฟักทอง ถั่วแขก และผักชี แต่แนะให้กินดิบหรือถูกความร้อนครู่เดียว สารเหล่านี้มักพบใกล้เปลือก จึงควรปอกเปลือกแต่เพียงบางๆ เท่านั้น

บีตา-คริปโทแซนทิน เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่สำคัญตัวหนึ่งเป็นสารสำคัญให้สีในลูกพลับ มะละกอ มะกอก สารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อสลายตัวจะให้วิตามินเอ กระตุ้นยีนต้านการเกิดมะเร็ง ที่เรียก RB gene) มีฤทธิ์เสริมสมรรถภาพการทำงานของปอด ผู้ที่กินบีตา-คริปโทแซนทินเป็นประจำจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งในปอดและลำไส้ใหญ่ได้ 

ฟลาโวนอยด์ เฮสเพอริดิน (hesperidin) และ   นาริงจิน (naringin) ในเปลือกส้มและเยื่อส้ม (รู้จักกัน ในนาม citrus bioflavonoid หรือ vitamin P) ฤทธิ์เสริมความแข็งแรงของหลอดเลือดฝอย  

พิโนสโทรบิน (pinostrobin) ได้จากรากกระชายเหลือง มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ขับสารพิษในตับ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการก่อกลายพันธุ์ จึงมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง 

มอริน (morin) เป็นฟลาโวนอยด์จากขนุน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัสเริม หรือเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ 2 (HSV-2) ป้องกันการเกิดมะเร็งจากการได้รับสารก่อมะเร็ง การทดลองระดับเซลล์พบว่า มอรินทำให้ระดับสารเคมีต้านมะเร็งในเซลล์มะเร็งเต้านมสูงกว่าเซลล์ที่ไม่ได้รับมอริน โดยลดการขับยาออกจากเซลล์มะเร็ง

ลูกพลับ เป็นผลไม้ที่มีสีส้ม มีรายงานว่าการทดลองให้ลูกพลับกับหนูที่มีโคเลสเตอรอลสูงสามารถลดไขมันในกระแสเลือดได้  และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้มีผลจากคาโรทีนอยด์ โพลีฟีนอล และเส้นใยที่ละลายน้ำได้จากลูกพลับนั่นเอง

สับปะรด มีกลุ่มเอนไซม์โบรมีเลน (bromelain) เป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนได้จากเนื้อและแกนผลสับปะรด  มีฤทธิ์ต้านการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด มีรายงานว่าเมื
เมื่อให้โบรมีเลนกับสัตว์ทดลองสามารถสลายไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดได้ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดความเจ็บปวดจากการอักเสบ ลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง

โบรมีเลนชักนำให้เกิดการหลั่งไซโทไคน์ที่ชักนำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งได้ มีฤทธิ์ช่วยระบบการย่อยอาหารและสมานแผลในกระเพาะอาหาร การกินสับปะรดเป็นประจำอาจช่วยเสริมสุขภาพแบบองค์รวมได้ด้วยเหตุผลข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีผักและผลไม้สีเหลือง สีส้ม อีกหลายชนิด เช่น มะนาว มะยม มะม่วง ทุเรียน มีขมิ้นชัน ที่ใช้รักษาโรคกระเพาะ และลูกเสาวรสที่มีแคโรทีนอยด์ และวิตามินซีอีกด้วย
สีแดง
อาหารสีแดงช่วยดูแลหัวใจและหลอดเลือด  ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และรักษาสุขภาพระบบทางเดินปัสสาวะ สารที่พบในอาหารสีแดง/ชมพู ได้แก่ แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน บีทาเลน และสารประกอบ ฟีนอล แคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า แอสตาแซนทิน (astaxanthin) พบในสัตว์น้ำที่มีสีแดง เช่น ปลาแซลมอน กุ้ง และปู มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าบีตา- แคโรทีน ๑๐ เท่า สามารถผ่านเข้าไปในสมองทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระในสมองได้ จึงควรเลือกกินอาหารสีแดงกลุ่มนี้เป็นระยะๆ
ไลโคพีน (lycopene) เป็นแคโรทีนอยด์ที่ให้สี แดงแก่ผลมะเขือเทศ แตงโม ส้มโอ ฝรั่งและมะละกอสีแดง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการถูกทำลายของสารพันธุกรรมและโปรตีน 

ไลโคพีน จับกับเส้นใยได้ดี จะออกฤทธิ์ได้ดีถ้าถูกปลดปล่อยจากเส้นใยโดยใช้ความร้อน ไลโคพีนละลายในไขมัน ป้องกันผิวหนังได้ อันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่าบีตา-แคโรทีน  พบปริมาณมากในผิวหนัง อัณฑะ ต่อมหมวกไต และต่อมลูกหมาก ป้องกันอวัยวะดังกล่าวจากการเกิดมะเร็ง ลดปริมาณไขมันแอลดีแอลในเลือด มีรายงานวิจัยในต่างประเทศสรุปว่ากลุ่มคนที่กินผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศมากมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็ง ต่อมลูกหมากต่ำกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้คงเป็นเพราะคุณสมบัติข้างต้นของไลโคพีนนั่นเอง

ดอกกระเจี๊ยบ มีสารสีแดงกลุ่มแอนโทไซยานิน เรียก ไฮบิสซิน (hibiscin) ไซยาไนดิน-3- แซมบูบิโอไซด์ และเดลฟินดิน-3-แซมบูบิโอไซด์  น้ำต้มดอกกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์ลดความดันเลือดด้วย ดอกกระเจี๊ยบสดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าดอกกระเจี๊ยบแห้ง มีรายงานในสัตว์ทดลองว่าหนูที่ได้รับน้ำคั้นดอกกระเจี๊ยบและดอกกระเจี๊ยบแห้งมีการทำงานของเอนไซม์กำจัดสารพิษในตับสูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม เมื่อทำการทดลองให้น้ำคั้นดอกกระเจี๊ยบสดและดอกแห้งต่อหนู ทดลองที่ได้รับสารก่อมะเร็งพบว่า กลุ่มที่ได้รับกระเจี๊ยบ มีเซลล์ผิดปกติในลำไส้ใหญ่อันเป็นเซลล์เริ่มก่อมะเร็งต่ำกว่ากลุ่มควบคุมเกินร้อยละ ๕๐ น้ำคั้นดอกกระเจี๊ยบสดและดอกกระเจี๊ยบแห้งจึงอาจใช้ในการเสริมสร้างสุขภาพได้

ผลสตรอเบอร์รี่ เชอร์รี่ และเมล็ดทับทิม มีแอนโทไซ-ยานินหลัก ๒ ชนิด คือ ไซยาไนดิน-3-กลูโคไซด์ และเพลาโกไนดิน-3-กลูโคไซด์ งานวิจัยพบว่า ไซยาไนดิน-3-กลูโคไซด์ กระตุ้นการทำงานของยีน เอนไซม์เซลล์ผนังหลอดเลือดสร้างสารไนตริกอ็อกไซด์ ซึ่งทำให้คาดหวังว่า การบริโภคแอนโทไซ-ยานินดังกล่าวควรจะแก้ไขปัญหา ที่เกิดกับเซลล์บุผนังหลอดเลือด ควบคุมความดันเลือดและป้องกันหรือชะลอการอุดตันและแข็งตัวของหลอดเลือดหัวใจได้

บีทาเลน (betalain) คือสารให้สีแดงและสีม่วงในหัวบีต (beet root) ผลแก้วมังกร ผลพืช กลุ่มกระบองเพชรทั้งหมด และดอกเฟื่องฟ้า (กินได้) ประกอบ ด้วยสารบีตาไซยานินสีม่วงแดง และบีตาแซนทินสีเหลือง บีตาไซยานินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พืชที่มีสารเหล่านี้ควรมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคอนุมูลอิสระที่เกิดจากความเครียดได้

ผลแก้วมังกร มีทั้งที่เนื้อในสีขาว (ขอบติดเปลือก ม่วง) และสีม่วง มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง มีปริมาณเพ็กตินสูง การกินผลไม้นี้ช่วยลดระดับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือด ลดอาการโรคกระเพาะ เนื้อผลทั้งสีขาวและสีม่วงอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินซีสูงและลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด

หัวบีต มีสารกลุ่มบีทาเลนเหมือนผลแก้วมังกร  แต่มีสารจีออสมิน (geosmin) กลิ่นคล้ายดินทำให้ไม่สามารถกินได้ในปริมาณมาก  ถ้ากินมากจะมีการ ขับสีออกจากร่างกาย ในผลไม้สีแดง เช่น ราสเบอร์รี่และสตรอเบอร์รี่ มีสารประกอบฟีนอลเรียกกรดเอลลาจิก (ellagic acid)  สารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งโดยป้องกันการจับของสารก่อมะเร็งกับสารพันธุกรรมในเซลล์ และเสริมการทำงานของเอนไซม์กำจัดสารพิษ ในตับ

อย่าลืมผลไม้พื้นบ้าน เช่น ลูกตะขบ ลูกตำลึง ลูกเชอร์รี่ (เปรี้ยวๆ) ล้วนมีคุณค่าเสริมสุขภาพทั้งนั้น
ที่กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างของคุณค่าของผัก ผลไม้ และอาหารธรรมชาติสีต่างๆ ที่มีต่อการรักษาสุขภาพ ผักและผลไม้อื่นๆ ก็มีคุณค่าคล้ายคลึงกัน การจัดเป็นกลุ่มสีนี้ทำให้ง่ายต่อการเลือกกิน จึงแนะนำให้กินอาหาร ๕ สีในแต่ละวัน และสลับสับเปลี่ยนชนิดของอาหารในแต่ละสีไปเรื่อยๆ เพื่อให้คุณและคนที่คุณรักมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ รศ.ดร.สุทธาทิพ ภมรประวัติ (ผู้เขียน) มา ณ โอกาสนี้

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สุขภาพดีด้วยการออกกำลังกาย


การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายไม่ได้หมายถึงการต้องไปแข่งขันกีฬากับผู้อื่น แต่การออกกำลังกายเป็นการแข่งขันกับตัวเอง
หลายคนก่อนจะออกกำลังกายมักจะอ้างเหตุผลของการไม่ออกกำลังกาย เช่น ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ปัญหาเกี่ยวกับอากาศ ทั้งหมดเป็นข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลังกาย แต่ลืมไปว่าการออกกำลังกายอาจจะให้ผลดีมากกว่าสิ่งที่เขาเสียไป
เป็นที่น่าดีใจว่าการออกกำลังให้สุขภาพดีไม่ต้องใช้เวลามากมาย เพียงแค่วันละครึ่งชั่วโมงก็พอ และก็ไม่ต้องใช้พื้นที่หรือเครื่องมืออะไร มีเพียงพื้นที่ในการเดินก็พอแล้ว การออกกำลังจะทำให้รูปร่างดูดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันโรคอ้วน การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังที่จะทำงานและต่อสู้กับชีวิต นอกจากนั้นยังสามารถลดความเครียดได้ด้วย

โรคที่มากับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
  • กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง
  • โรคเครียด
  • โรคภูมิแพ้
  • โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • โรคมะเร็ง
การเริ่มต้นออกกำลังกาย
หลายท่านไม่เคยออกกำลังมาก่อนเมื่อเริ่มออกกำลังอาจจะทำให้เหนื่อยง่าย วิธีที่ดีที่สุดของการเริ่มต้นออกกำลังกาย คือให้เริ่มออกกำลังกายจากกิจวัตรประจำวัน เช่น
  • ใช้การเดินหรือขี่จักรยานเมื่อไปที่ไม่ไกล
  • หยุดใช้รถหนึ่งวันแล้วใช้การเดินไปทำงานสำหรับผู้ที่บ้านและที่ทำงานไม่ไกล
  • ใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟต์หรือบันไดเลื่อน
  • ขี่จักรยานรอบหมู่บ้าน
  • ทำงานบ้าน เช่นทำสวน ล้างรถ ถูบ้าน
ทำกิจวัตรเหล่านี้ทุกวันเป็นเวลา 2-3 เดือนจึงเริ่มต้นเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เช่น
  • การเดินให้เร็วขึ้นสลับกับการเดินช้า
  • ขี่จักรยานนานขึ้น
  • ขึ้นบันไดหลายขั้น
  • ขุดดินทำสวนนานขึ้น
  • ว่ายน้ำ
  • เต้นแอร์โรบิค แต่ไม่ต้องนาน
  • เต้นรำ
  • เล่นกีฬา เช่น ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส

หลังจากที่เตรียมความพร้อมร่างกายแล้วเรามาเริ่มต้น ฟิตร่างกายกัน
หลังจากเตรียมความพร้อมแล้ว คุณได้ออกกำลังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแล้วหากคุณต้องการฟิตร่างกายก็สามารถทำได้โดย
  • โดยการวิ่งเร็วขึ้น นานขึ้น
  • ว่ายน้ำนานขึ้น
การฟิตร่างกาย คุณต้องติดตามความก้าวหน้าของการออกกำลังกายเช่น เวลาที่ใช้ในการออกกำลังเพิ่มขึ้น ระยะทางในการออกกำลังเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นได้ดี
เทคนิคของการออกกำลังกายเป็นประจำ

  • จะต้องตระหนักว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตซึ่งจะขาดไม่ได้เหมือนการนอนหลับ หรือการรับประทานอาหาร
  • เลือกการออกกำลังกายที่ชอบที่สุด และสะดวกที่สุด
  • ครอบครัวอาจจะมีส่วนร่วมด้วยก็จะดี
  • ช่วงแรกๆของการออกกำลังกายไม่ควรจะหยุด ให้ออกจนเป็นนิสัย
  • บันทึกการออกกกำลังกายไว้
  • หาเป็นไปได้ควรจะมีกลุ่มเพื่อออกกำลังกายร่วมกันเพราะกลุ่มจะช่วยกันประคับประคอง
  • ตั้งเป้าหมายการออกกำลังและการรับประทานทุกเดือนโดยอย่าตั้งเป้าหมายสูงเกินไป
  • ติดตามความก้าวหน้าโดยดูจากสมุดบันทึก
  • ให้รังวัลเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมาย(ห้ามการเลี้ยงอาหาร)
  • ที่สำคัญการออกกำลังแม้เพียงเล็กน้อยดีกว่าการไม่ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
ถ้าหากท่านได้เตรียมความพร้อมที่จะออกกำลังกายแล้วอยากจะฟิตร่างกายท่านสามารถทำได้ทันที แต่หากมีอาการหรือโรคต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฟิตร่างกาย
  • ถ้าท่านอายุมากกว่า 45ปี
  • หรือมีโรคประจำตัวเช่นโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ 
  • มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยมาก
  • มีอาการหน้ามืด
จำเป็นต้องอุ่นร่างกายหรือไม่ (Warm up)
ก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาจำเป็นต้องอบอุ่นร่างกายทุกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมของหัวใจ และหลังจากการออกกำลังควรจะอบอุ่นร่างกายอีกครั้ง
ความฟิตคืออะไร Physical fittness

ความฟิตไม่ได้หมายถึงว่าคุณสามารถวิ่งได้ระยะทางเท่าใด หรือยกน้ำหนักได้เท่าใด แต่ ความฟิตหมายถึงประสิทธิภาพของหัวใจ ปอดและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปถ้าหากออกกำลังกายได้อย่างน้อยวันละ 30 นาทีโดยออกหนักปานกลาง สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วันถือว่าได้ออกกำลังแบบ aerobic exercise รายละเอียดมีในออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ความฟิตของร่างกายต้องประกอบด้วยปัจจัย 5 อย่าง
  1. Cardiorepiratory endurance หมายถึงความสามารถของหัวใจที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเพียงพอในขณะที่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบ areobic จะเป็นการฝึกให้หัวใจแข็งแรง
  2. Muscular strength ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งเราสามารถเพิ่มความแข็งแรงได้โดยการยกน้ำหนัก หรือวิ่งขึ้นบันได
  3. Muscular enduranceความทนของกล้ามเนื้อหมายถึงความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่เกิดอาการเมื่อยล้า
  4. สัดส่วนของร่างกาย หมายถึงสัดส่วนของกล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน การออกกกำลังจะทำให้มีปริมาณกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณไขมันจะลดลง อาจจะดูได้จากดัชนีมวลกาย
  5. Flexibility ความยืดหยุดของกล้ามเนื้อ เอ็น เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหรือข้อได้รับอุบัติเหตจากการออกกำลังกาย
ขณะป่วยควรออกกำลังกายหรือไม่

ขณะเจ็บป่วยไม่ควรจะออกกำลังกายเพราะจะทำให้โรคเป็นมากขึ้น ควรจะพักจนอาการดีขึ้น หากพักเกินสองสัปดาห์เวลาเริ่มออกกำลังกายควรจะเริ่มเบาๆก่อน และหากท่านเป็นโรคเรื้อรังควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

จริงหรือไม่ที่การออกกำลังกายโดยการเดินดีพอๆกับการวิ่ง
การเริ่มต้นออกกำลังควรใช้วิธีเดินเนื่องจากจะไม่เหนื่อยมาก ยังลดน้ำหนักได้และอาการปวดข้อไม่มาก ส่วนการวิ่งจะเป็นการออกกำลังที่คุณเตรียมร่างกายไวพร้อมแล้วเพราะการวิ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เหนื่อย และทำให้ปวดข้อ ดังนั้นการออกกำลังโดยการเดินเหมาะสำหรับคนอ้วน หรือผู้ที่เริ่มออกกำลังกายแต่ถ้าผู้ที่ต้องการความฟิตของร่างกายควรออกกำลังโดยการวิ่ง
คนท้องควรออกกำลังหรือไม่
คนท้องควรออกกำลังกายเป็นประจำแต่ออกกำลังแบบเบาๆโดยการเดิน ไม่ควรวิ่ง ไม่ควรยกของหนัก
จะรู้ได้อย่างไรว่าออกกำลังกายมากเกินไป
ท่านสามารถสังเกตขณะออกกำลังกายว่ามากไปหรือไม่โดยสังเกตจากอาการดังต่อไปนี้
  • หัวใจเต้นเร็วมากจนรู้สึกเหนื่อย
  • หายใจเหนื่อยจนพูดไม่เป็นประโยค
  • เหนื่อยจนเป็นลม
  • ไม่มีอาการปวดข้อหลังออกกำลังกาย
หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดการออกกำลังสองวันและเวลาออกกำลังให้ลดระดับการออกกำลังกาย
ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
ผลต่อโรคความดันโลหิตสูง(140/90)

  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะมีโอกาศเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 35%
  • การออกกกำลังอย่างสท่ำเสมอจะลดทั้งความดัน systole และ diastole อย่างชัดเจน
  • คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราการเสี่ยงชีวิตจากโรคแทรกซ้อน น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลัง
  • การออกกำลังจะช่วยเพิ่มอายุ 1-1.5ปี
ผลต่อโรคเส้นเลือดสมอง

  • อัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลงเมื่ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
  • เมื่อขึ้นบันไดวันละ 20 ขั้นจะลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงร้อยละ 20
  • ผู้ที่ออกกกำลังกายโดยการเดินเร็วๆสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงจะมีอุบัติการของโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงร้อยละ 40
ผลต่อโรคเบาหวาน

  • ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีโอกาสการเกิดโรคเบาหวานลดลงร้อยละ 42
  • ผู้ออกกกำลังมากจนกระทั่งเหงื่อออก 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีอุบัติการของการเกิดโรคเบาหวานลดลงร้อยละ 22
ผลต่อหัวใจ
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะมีโอกาศเสียชีวิตเป็นสองเท่าของผู้ที่ออกกำลังกาย
  • การออกกำลังกายจะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น
  • การออกกำลังกายจะทำให้หัวใจสะสมพลังงานไว้ใช้เมื่อเวลาหัวใจต้องทำงานหนัก
  • เพิ่มความแข็งแรงในการบีบตัวของหัวใจ
  • ลดระดับไขมันในเลือด เพิ่มระดับ HDL (ซึ่งเป็นไขมันที่ดี)
  • ลดระดับความดันโลหิต ลดการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานน้อยลง
ผลต่อมะเร็ง
  • การออกกำลังกายจะลดการเกิดโรคมะเร็งได้ร้อยละ 46
ผลต่อคุณภาพชีวิต
  • การออกกำลังกาย 1500 กิโลแครอรีต่อสัปดาห์(ออกกำลังกายหนักปานกลาง)จะเพิ่มอายุ 1.57 ปีและลดอุบัติการการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงร้อยลง 67
  • สำหรับผู้สูงอายุทุก 1 ไมล์ที่เดินจะลดอุบัติการเสียชีวิตลงร้อยละ 19
  • การออกกกำลังอย่างสม่ำเสมอ(อายุ 45-84)จะลดการเสียชีวิตร้อยละ 18
ขอขอบคุณเวปไซต์ http://www.siamhealth.net/

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความรัก

รักอย่างมีสติ สัมปชัญญะ
ความรัก เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับ การชอบ, การผูกพันทางจิตใจกับบางสิ่งบางอย่าง คำว่ารักมีความหมายในหลายแง่มุมซึ่งทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง ต่างคนต่างมีความรักต่อผู้อื่นแตกต่างกัน ดังนั้นจึงยากต่อการอธิบายและให้คำนิยามคำว่ารักแบบเฉพาะเจาะจง รักเป็นความสัมพันธ์ซึ่งไม่ได้อยู่ลอยๆ หากมีรักก็จะต้องมีผู้ซึ่งเป็นฝ่ายรักและอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถูกรัก ความรักเป็นนามธรรมจึงไม่อาจมองเห็น, ไม่อาจจับต้อง ไม่อาจวัดปริมาณได้. โดยทั่วไปแล้ว ความเสียหายหรือการจากไปของสิ่งรักจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่ผู้รัก เนื่องจากผู้รักได้ให้คุณค่าแก่สิ่งนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความโศกเศร้าจะมากหรือน้อยขึ้นกับคุณค่าที่ผู้รักกำหนดให้กับสิ่งที่ตนรักนั้น ความรักไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงมนุษย์ สัตว์ต่างๆ ก็แสดงปรากฏการณ์ทางความรักให้เห็น เช่น การปกป้องลูก
วันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์) คือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งมักจะมีการแสดงความรักโดยการให้ของขวัญหรือให้ดอกกุหลาบ โดยถือว่าดอกกุหลาบนั้นเป็นดอกไม้แห่งความรัก

 

นิยามและคำจำกัดความ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่ารักไว้ว่า เป็นคำกริยา มีนิยามว่า "ชอบอย่างผูกพันพร้อมด้วยชื่นชมยินดี"
ข้างต้นกล่าวไว้ว่าความรักมีหลายแง่มุมแตกต่างกัน เราสามารถเห็นความแตกต่างนี้ได้อย่างชัดเจนหากแบ่งความรักออกเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้คู่กรณีของความรักเป็นเกณฑ์ เช่น:
 รูปแบบของความรัก
  • ความรักต่อบุคคล:
    • ความรักต่อทายาท - รักที่พ่อแม่มีให้กับลูกผู้ซึ่งตนให้กำเนิด
    • ความรักต่อบุพการี - รักที่ลูกมีต่อพ่อแม่
    • ความรักต่อญาติพี่น้อง - รักที่มีระหว่างญาติพี่น้อง
    • ความรักต่อเพศตรงข้าม - รักที่อาจมีอารมณ์ และ/หรือ ความรู้สึกทางเพศมาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ได้
    • ความรักต่อเพื่อน - รักที่มีระหว่างผองเพื่อน
  • ความรักต่อสถาบัน - รักที่ผู้รักมีต่อสถาบันที่ตนมีส่วนผูกพัน เช่น รักชาติบ้านเมือง, รักศาสนา, รักพระมหากษัตริย์, รักโรงเรียน, รักภาษาไทย ฯลฯ
  • ความรักต่อสิ่งต่างๆ - รักที่ผู้รักมีต่อสิ่งซึ่งตนเป็นเจ้าของหรือมีส่วนผูกพัน เช่น รักรถยนต์, รักหนังสือ, รักรถไฟ, รักเพลงคลาสสิก, รักฟุตบอล ฯลฯ
  • ความรักต่อตนเอง - รักที่ผู้รักมีต่อตนเอง
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวที่จะช่วยให้ก้าวหน้าในความรักที่แท้จริงนั้น ก็ควรจะประกอบด้วย 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ให้รู้จักกันทั้งในด้านดี ในด้านเสีย และข้อผิดพลาดซึ่งต่างก็มีอยู่ และยอมรับซึ่งกันและกันในข้อเหล่านั้น
2. ให้เคารพและเห็นใจกัน โดยเสียสละต่อกันเพื่อให้คนรักของตนได้รับความดี และความสุขใจในทางที่บริสุทธิ์งดงาม
3. ให้มีการปรับปรุง และเปลี่ยนนิสัยของตนในส่วนที่บกพร่อง เพื่อจะอยู่กันด้วยความสุขในอนาคต