วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ไขมัน วายร้ายหลายโรค

ตรุษจีน เทศกาลดีๆแต่มีไขมัน
       เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนกันแล้วนะคะ หลายครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน หรือผู้ที่นิยมการเคารพบูชาแบบจีนๆ ก็เริ่มจัดเตรียมอาหาร ขนม ของเซ่นไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ ฯลฯ ตามแต่ที่จะคัดสรรกันขึ้นมาตามความเคารพนับถือ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาหารเหล่านั้นมักมีความแตกต่างจากอาหารของคนไทยทั่วๆไปนิดนึงนั่นคือ จะมีอาหารที่มันๆ ประเภทผัดๆ ต้มๆ นึ่งๆ ยกตัวอย่างเช่น ผัดผัก หัวหมู ไก่ต้ม เป็ดตุ๋น ขนมเข่ง ขนมเทียม ฯลฯ ซึ่งมีความมันวาวเพราะอุดมไปด้วยไขมันที่ค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน
      ความนิยมชมชอบในการไหว้ที่ใช้ของมันๆเหล่านี้ ก็เป็นธรรมเนียมที่สืบกันมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดแต่ประการใดค่ะ แต่เมื่อไหว้เสร็จแล้วนี่ล่ะค่ะ ของไหว้เหล่านั้นก็จะนำมารับประทานกัน แน่นอนล่ะว่าของที่เราทานไปนั้นก็จะมีไขมันอยู่ด้วย บางคนอาจจะทานมาก ทานน้อย แต่สิ่งที่ตามมาก็อาจจะมีผลลัพธ์ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็ได้
      อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารก็ควรทานให้ครบทั้งห้าหมู่ คละเคล้ากันไป ไม่ควรจำกัดอาหารแค่อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อสุขภาพที่ดีและยืนยาวต่อไป พยายามดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ
     วันนี้ก็มีความรู้ทางการแพทย์และโภชนาการที่เหมาะสมมาฝากด้วยค่ะ

ไขมัน คืออะไร


ไขมัน หมายถึง สารประกอบหลายชนิดซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือ ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ แต่ไม่ละลายน้ำ ไขมันในทางเคมี คือ ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไตรเอสเทอร์ของกลีเซอรอลกับกรดไขมัน สถานะของไขมันที่อุณหภูมิห้องมีทั้งของแข็งและของเหลว ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและองค์ประกอบของไขมันนั้น แม้คำว่า "น้ำมัน", "ไขมัน" และ "ลิพิด" ล้วนถูกใช้หมายถึงไขมัน แต่โดยทั่วไป "น้ำมัน" ใช้กับไขมันที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง "ไขมัน" หมายถึง ไขมันที่เป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง "ลิพิด" หมายรวมไขมันทั้งที่เป็นของเหลวและของแข็ง ตลอดจนสสารที่เกี่ยวข้องอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ในบริบททางการแพทย์หรือชีวเคมี
ไขมันเป็นลิพิดชนิดหนึ่ง ซึ่งแยกแยะได้จากโครงสร้างทางเคมีและคุณสมบัติทางกายภาพ โมเลกุลไขมันสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิด โดยทำหน้าที่ทั้งเชิงโครงสร้างและเมแทบอลิซึม ไขมันเป็นส่วนสำคัญในอาหารของเฮเทอโรโทรปส่วนมาก (รวมทั้งมนุษย์) ในร่างกาย ไขมันหรือลิพิดถูกย่อยโดยเอนไซม์ชื่อ ไลเปส ซึ่งสร้างจากตับอ่อน
ตัวอย่างไขมันสัตว์ที่กินได้ เช่น มันหมู น้ำมันปลา เนยเหลว และชั้นไขมันวาฬ ไขมันเหล่านี้ได้มาจากนมและเนื้อ ตลอดจนจากใต้หนังของสัตว์ ตัวอย่างไขมันพืชที่กินได้ เช่น น้ำมันถั่วลิสง เต้าเจี้ยว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และเนยโกโก้ สำหรับเนยขาวซึ่งถูกใช้ในการอบขนมปังและเนยเทียมเป็นหลัก หรือใช้ทาขนมปัง สามารถดัดแปลงจากไขมันข้างต้นได้โดยปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน
ไขมันจำแนกได้เป็นไขมันอิ่มตัวกับไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวยังสามารถจำแนกต่อได้อีกเป็นไขมันซิส ซึ่งพบทั่วไปในธรรมชาติ และไขมันทรานส์ ซึ่งพบได้ยากในธรรมชาติ แต่พบในน้ำมันพืชที่ได้ทำไฮโดรจิเนชันไปแล้วบางส่วน
        อาหารที่เราบริโภคทุกวันนี้ มีสารอาหารที่เป็นประกอบที่สำคัญคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน ไขมัน (Lipids) เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุดคือประมาณ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัม ไขมันมีในอาหารทั่วไปทั้งในพืชและเนื้อสัตว์ มากน้อยตามชนิดของอาหารต่างๆ กัน
ไขมัน (LIPIDS) แบ่งตามวิทยาศาสตร์เคมีได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์(Triglycerides) และฟอสโฟไลปิดส์ (Phospholipids) และอื่นๆ อีกที่ไม่ค่อยสำคัญมากแต่ที่เรามันได้ยินคุ้นหูจากแพทย์บ่อยๆ คือ คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งแพทย์จะบอกแก่คนไข้ว่า ตรวจไขมันในเลือดให้ นั่นคือ ตรวจค่าของทั้งสองชนิดนั่นเอง ซึ่งค่าปกติของไขมันในเลือดคือ
- คอเลสเตอรอล 
(Cholesterol) ประมาณ 150-250 mg/dl
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ประมาณ 35-160 mg/dl
เรามาทำความเข้าใจกับโครงสร้างอย่างง่ายๆ ของกรดไขมันกันก่อน คือกรดไขมันจะประกอบด้วยธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน ซึ่งโมเลกุลของธาตุทั้งสามนี้ จะเกาะกันเป็นลูกโซ่มากน้อยตามแต่ละชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิด
ไขมันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acids) คือเป็นไขมันเต็มตัวแล้ว คือ ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจนจับกันเป็นลูกโซ่โดยสมบูรณ์ และไม่มีช่องว่างเหลือที่จะทำปฏิกิริยากับสารใดๆ ในร่างกายได้ ดังนั้น ไขมันชนิดนี้จะอยู่ในรูปของแข็งในอุณหภูมิปกติ ไขมันจำพวกนี้จะพบมากใน ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อหมู วัว และไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย ไข่แดงและอื่นๆ


2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acids) คือไขมันที่ธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน จับกันยังไม่สมบูรณ์ นั่นคือ ยังมีช่องว่างในลูกโซ่เหลืออยู่ และพร้อมที่จะทำปฏิกิริยาและจับกับสารอื่นๆ ในร่างกายได้และพร้อมจะเปลี่ยนแปรสภาพเป็นสารอื่นๆ ได้ พบมากในน้ำมันปลาแซลมอน น้ำมันเมล็ดพันธุ์บอเรจ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันจมูกข้าวสาลี และอื่นๆ

ไขมันมีประโยชน์อย่างไร

1. ไขมันเป็นอาหารสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและเป็น 1 ในอาหาร 5 หมู่ ที่มีประโยชน์ นอกเหนือจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรท วิตามินและเกลือแร่
2. ไขมันช่วยในการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน 
(Fat soluble Vitamins) เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
3. ไขมันให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงที่สุดคือ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัมของไขมัน ช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงานที่จะทำงานและประกอบกิจวัตรประจำวัยได้ตามปกติ
4. ไขมันช่วยปกป้องและกันความร้อน รวมทั้งคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ โดยทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน
(Thermal Insulator) ของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย
5.ไขมันช่วยเป็นเสมือนกันชนให้ร่างกาย คือช่วยป้องกันการกระเทือนของอวัยวะภายในร่างกาย ที่เกิดจากแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหวอย่างแรงของร่างกาย ซึ่งคอยป้องกันการบาดเจ็บของอวัยวะภายในร่างกาย
6. ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาทนั่นคือ เส้นประสาทของคนเราจะมีไขมันเป็นส่วนประกอบในอัตราที่สูง โดยเฉพาะจะหุ้มเส้นประสาท ช่วยในการป้องกันเส้นประสาทให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถูกสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
7. ไขมันเมื่อรวมกับโปรตีนก็คือ ไลโปโปรตีน 
(Lipoproteins) จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะผนังเซลล์และไมโตคอนเดรีย ส่วนนี้มีประโยชน์สำหรับคนเรามาก เพราะร่างกายของเราประกอบเป็นตัวตนด้วยเซลล์หลายๆ ล้านเซลล์ และเซลล์ของร่างกายเรา จะผลิตทุกวันเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นั่นคือ ถ้าขาดไขมัน ผนังเซลล์ของร่างกายเราก็จะอ่อนแอ เซลล์ที่ตายไปก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้

ความสำคัญของไขมัน

ไขมันในอาหารคือการที่สารอาหารชนิดนี้เป็นแหล่งของกรดไขมันจำเป็นเช่นกรดไลโนเลอิกและกรดไลโนเลนิก ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต การรักษาสมดุลของผิวหนัง ควบคุมการเผาผลาญคอเลสเทอรอล และยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิต postagladin ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย ไขมันยังมีหน้าที่ในการลำเลียงและการดูดซึมของวิตามินชนิดที่ละลายในไขมันได้แก่ วิตามินเอ,วิตามินอี และวิตามินเค รวมทั้งแคโรทีนอยด์ด้วย ในบางกรณีไขมันจากอาหารยังเป็นวิตามินอีย เช่น น้ำมันถั่วเหลืองเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินอี
ร่างกายมนุษย์สะสมไขมันไว้ภายในเซลล์ไขมัน (adipose cell) แต่ก็สามารถพบไขมันบางส่วนในเลือดและเซลล์อื่นๆได้ด้วย การสะสมไขมันในร่างกายมิใช่เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยรองรับและป้องกันอวัยวะภายในต่างๆอีกด้วย
ด้านอาหาร
นอกเหนือไปจากหน้าที่ที่มีต่อร่างกายแล้ว ไขมันยังมีส่วนสำคัญในด้านเนื้อสัมผัส, กลิ่นรส, ความชุ่มเนื้อ, และรสชาติของอาหารอีกด้วย และเนื่องจากร่างกายของเราย่อยไขมันได้ช้ากว่าสารอาหารชนิดอื่น เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอิ่ม หลังจากได้รับอาหารเข้าในประมาณที่เพียงพอแล้ว
โดยหลักการ ไขมันมิได้ถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่อย่างใด เพราะไขมันก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุสามชนิดเช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, และออกซิเจน อย่างไรก็ตาม ไขมันจะมีสัดส่วนของคาร์บอนและไฮโดรเจนมาก และมีออกซิเจนน้อย ซึ่งทำให้ไขมันมีพลังงานต่อมวลมากถึง 9 แคลอรีต่อกรัม ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีต่อกรัม
ด้านอุตสาหกรรม
ใช้ในการทำสบู่ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาสะพอนิฟิเคชันซึ่งเกิดจากน้ำมันพืชผสมกับโซดาไฟ

โครงสร้างด้านเคมีของไขมัน

           ไขมันประกอบไปด้วยธาตุหลัก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน เช่นเดียวกับโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต อย่างไรก็ตามไขมันมีองค์ประกอบเป็นคาร์บอนและไฮโดรเจนแต่มีออกซิเจนน้อย ดังนั้นไขมันจึงให้พลังงานมากถึง 9 แคลอรีต่อ 1 กรัม
ในทางเทคนิคนั้นควรจะกล่าวถึงไขมันในลักษณะที่เป็นพหูพจน์เนื่องจากไขมันมีหลายชนิด โดยไขมันจะประกอบขึ้นด้วยกรดไขมัน (Fatty acids) ชนิดต่างๆที่มีลักษณะทางกายภาพและมีผลต่อร่างกายแตกต่างกันไป ไขมันยังสามารถแบ่งตามการมีพันธะคู่ของคาร์บอนอะตอมภายในกรดไขมันได้แก่
  1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acids) ซึ่งไม่มีพันธะคู่ระหว่างอะตอมของคาร์บอน ปกติพบได้ในไขมันจากสมองสัตว์หรือเครื่องในสัตว์
  2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acids) ซึ่งมีพันธะคู่ พบได้ในไขมันพืช

โรคที่เกิดจากไขมัน

  1. โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดเบาหวาน ความดัน ฯลฯ
  2. โรคไขมันสะสมที่ตับ หัวใจ ฯลฯ
  3. โรคอ้วน
  4. ฯลฯ
การดูแลไม่ให้เกิดโรคจากไขมัน

  1. ทานอาหารทั้งห้าหมู่ให้พอดีแก่ความต้องการของร่างกาย
  2. ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  4. หมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ และขอคำแนะนำในการดูแลตนเองให้พอดีสมอายุ


ขอขอบคุณข้อมูลคุณภาพจากเวปวิกิพีเดีย โอเคเนชั่นและภาพน่ารักๆจากเจ้าของผลงานในอินเตอร์เน็ต(ไม่ทราบผู้สร้างสรรค์ผลงาน)

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

โฟม กล่องข้าวน้อยฆ่าคน มหันตภัยตัวจริง

กล่องโฟม ไม่ควรนำไปบรรจุอาหาร?

ได้ยินได้ฟังกันมานานแล้วว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารที่เรารับประทานกันเป็นประจำนั้นมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์อย่างไร แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอาหารในกล่องโฟม เพราะวิถีชีวิตประจำวันมักไม่เปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากนัก การจะหาของกินดีๆ ที่ปลอดภัยไร้สารเจือปนจึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนยุคนี้
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ ผู้บริโภคทั้งหลายจึงต้องจำใจยอมรับและในที่สุดก็เกิดพฤติกรรมเคยชิน หรือบางครั้งก็ต้องแกล้งปิดตาข้างหนึ่งก่อนจะกลืนข้าวลงคอ
เรื่องแบบนี้จึงต้องพูดซ้ำๆ ย้ำกันให้มาก เพื่อกระตุกให้ผู้บริโภคตื่นตัวอยู่เสมอว่า วิกฤติสารพิษในอาหารกำลังโอบล้อมอยู่รอบตัวเราทุกทิศทาง ถ้าแข็งใจสักนิด ย้ำเตือนกับตัวเองบ่อยๆ อย่าเพิ่งเหนื่อยหน่ายถอดใจไปเสียก่อน อย่างน้อยก็ช่วยยืดลมหายใจให้กับตัวเราเองและลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายลงได้บ้าง

ขาว-สวย-ดุ
กล่องโฟมบรรจุอาหารได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่แม่ค้าร้านตลาดทั่วไปก็เพราะมันใช้ง่าย ราคาถูก ใส่อาหารได้สารพัดชนิด แถมยังดูสวยงามน่ารับประทานกว่าการยัดใส่ในถุงแกงธรรมดาๆ ช่วยอัพเกรดสินค้าขึ้นมาอีกระดับ แม้ผู้ค้าจำนวนหนึ่งอาจมีสำนึกดีด้วยการใช้ถุงแกงใสๆ รองใต้อาหารอีกชั้นหนึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่ดีพอ
foam-4ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงพิษภัยจากกล่องโฟมไว้ว่า โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS) ก่อนนำมาเติมสารเร่งเพื่อช่วยให้เกิดการพองตัวและเกิดการแทรกตัวของก๊าซในเนื้อพลาสติก ทำให้ได้พลาสติกที่มีน้ำหนักเบา สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารในรูปแบบต่างๆ ได้ตามต้องการ แต่เมื่อถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัดและอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาจากภาชนะโฟมได้
สารพิษที่ไหลออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สไตรีน (Styrene) เบนซีน (Benzene) โดยที่สารสไตรีนจะส่งผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง หากสูดเข้าไปจะมีอาการไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น
ส่วนอันตรายจากสารเบนซีนสำหรับผู้ที่ได้รับสารเข้าไปในระยะแรกจะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ถ้าดื่มหรือกินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

มีมะเร็งมาฝาก
จากการติดตามศึกษาถึงผลกระทบและอันตรายในกล่องโฟม ภก.ณรงค์ชัย จันทร์พร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้วกล่องโฟมจะทนความร้อนได้เพียง 70 องศาเซลเซียส หากสัมผัสอุณหภูมิที่สูงกว่านั้นหรือนำเข้าเตาอบไมโครเวฟ กล่องโฟมจะเสียรูปและอาจทำให้สารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟมแพร่กระจายออกมาปนเปื้อนสู่อาหารได้ง่ายและเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
“สารเบนซีนเป็นสารที่หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้ากินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ลูคิเมีย) โรคโลหิตจาง เนื่องจากเบนซีนจะเข้าไปทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้” ภก.ณรงค์ชัย ระบุ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสารสไตรีนยังไม่มีข้อมูลระบุชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ด้วยหรือไม่ แต่พบว่าทำให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง จึงจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B (Possibly Carcinogen) โดยปริมาณของสารสไตรีนที่แพร่กระจายเข้าสู่อาหารจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ ปริมาณไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่ภาชนะโฟมสัมผัสกับอาหาร
ภก.ณรงค์ชัย ย้ำอีกว่า “นอกจากสารสไตรีนและเบนซีนแล้ว ยังมีสารทาเลท (Phthalate) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน ส่วนหญิงมีครรภ์อาจให้กำเนิดลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรมหรือปัญญาอ่อน”
ภก.ณรงค์ชัย ยืนยันข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ของ ชุมาพร รถสีดา ปี 2552 เรื่อง ‘การประเมินความเสี่ยงจากสไตลีนโมโนเมอร์ที่เคลื่อนย้ายจากภาชนะบรรจุอาหารชนิดโฟมโพลีสไตรีนเข้าสู่อาหาร’ ผู้วิจัยได้ทดสอบปริมาณสไตรีนที่เคลื่อนย้ายจากอาหารที่บรรจุอยู่ในกล่องโฟม ภายใต้อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิร้อน การใส่เครื่องปรุง ได้แก่ มะนาว น้ำปลา น้ำเกลือ น้ำพริก น้ำเชื่อม น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ น้ำกลั่น การแช่ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง รวมถึงการอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ
ผลวิจัยพบว่า “การแพร่กระจายของสไตรีนปนเปื้อนสู่อาหาร มีความสัมพันธ์กับปริมาณความเข้มข้นของสไตรีนและสารเคมีในกล่องโฟม อาหารที่ร้อน มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับกล่องโฟม รวมทั้งการอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ”

กฎหมายตามไม่ทัน
ปัจจุบันกฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานและการแสดงฉลากของกล่องโฟมมี 3 ฉบับคือ
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งได้กำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด
2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4225 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ตามมาตรฐานเลขที่ มอก.655 เล่ม 1-2553 โดยได้กำหนดประเภทภาชนะพลาสติกที่ทนความร้อน ธรรมดา ทนความเย็น และกำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด
3. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงคำเตือน ‘ห้ามใช้บรรจุของร้อน’ และ ‘ไม่ควรใช้บรรจุอาหารที่กำลังร้อนจัด โดยเฉพาะอาหารทอดด้วยน้ำมัน‘ สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทนความร้อนได้ไม่เกิน 95 องศาเซลเซียส
ภก.ณรงค์ชัย ตั้งข้อสังเกตต่อกฎหมายทั้ง 3 ฉบับว่า “จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการแพร่กระจายของสารเบนซีนและทาเลทในภาชนะกล่องโฟม และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังด้านคุณภาพ มาตรฐาน และการแสดงฉลากให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะคำแนะนำไม่ให้ใช้ภาชนะกล่องโฟมในการบรรจุอาหารที่ร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส หรืออาหารที่มีไขมัน หรือนำเข้าไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งและสารพิษจากกล่องโฟม”

ตัวใครตัวมัน
แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิตกล่องโฟมในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ภาชนะโฟมที่ไม่เหมาะสม เช่น นำชามโฟมไปใส่ก๋วยเตี๋ยวที่ร้อนจัด หรือนำไปใส่อาหารที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ ซึ่งสไตรีนจะละลายตัวได้ดีในน้ำมัน ทำให้ผสมปนเปกับอาหารได้ง่าย หรือแม้กระทั่งมีการนำอาหารในกล่องโฟมไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง
ในเมื่อยังไม่สามารถควบคุมการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารอย่างถูกสุขลักษณะได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้แนะนำให้ผู้บริโภคตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้กล่องโฟม ก่อนนำมาใช้ควรกำจัดเศษโฟมที่หลงเหลืออยู่ตามผิวภาชนะออกก่อน หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟม ถึงขั้นแนะนำให้พกพาภาชนะส่วนตัวเมื่อไปซื้ออาหารตามร้านอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีสะสมในร่างกายในระยะยาวจนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ขณะเดียวกัน หากจะออกมาตรการบังคับให้ผู้ผลิตภาชนะติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดๆ ว่า ‘กล่องโฟมนี้มีสารก่อมะเร็ง’ หรือแม้กระทั่งมาตรการเพิ่มภาษีในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารที่ทำจากโฟม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะภาครัฐกลัวถูกภาคเอกชนฟ้องร้องเอาได้ ในข้อหากีดกันการค้า
สรุปง่ายๆ ว่า ถ้ายังไม่อยากตายผ่อนส่ง ผู้บริโภคก็ควรระแวดระวังกันเอาเอง เพราะในเวลานี้ยังไม่สามารถพึ่งพาหรือฝากความหวังให้กับหน่วยงานรัฐได้

ทางเลือกราคาแพง
foam-2กล่องโฟมที่ผลิตขึ้นในวันนี้จะใช้เวลาในการย่อยสลายอีก 450 ปีข้างหน้า ภก.ณรงค์ชัย ให้ข้อมูลว่า บางประเทศอย่างสวีเดนถึงกับกำหนดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะกล่องโฟมใบละ 6 บาท สูงกว่าราคากล่องโฟมซึ่งขายกันราคาใบละ 1 บาท เพราะหากเทียบกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและพิษต่อร่างกายแล้ว ราคานี้ถือว่าสาสม
เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฝรั่งเศส แคนาดา สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ ซึ่งตระหนักถึงปัญหาการใช้กล่องโฟม โดยได้ยกเลิกการใช้กล่องโฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร และส่งเสริมการใช้กล่องบรรจุอาหารที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น กล่องโฟมจากมันสำปะหลัง ข้าวโพด ชานอ้อย ฯลฯ ซึ่งใช้เวลาเพียง 45 วัน ก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในดิน
“จากการตรวจสอบราคาภาชนะทดแทนกล่องโฟมที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า พบว่า กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ ขนาด 600 ซีซี มีราคาสูงกว่ากล่องโฟมขนาดเท่ากันใบละ 30 สตางค์ (ราคาใบละ 2 บาท และ 1.70 บาท) ส่วนชามไบโอชานอ้อย ขนาด 6 นิ้ว มีราคาสูงกว่าชามโฟมในขนาดเท่ากันใบละ 1 บาท (ราคาใบละ 3.90 บาท และ 2.90 บาท)” ภก.ณรงค์ชัย ระบุ
หันกลับมามองประเทศไทย ยังไร้วี่แววว่าหน่วยงานรัฐจะหันกลับมาคิดทบทวนถึงปัญหาเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งมาตรการสนับสนุนราคาของวัสดุทดแทนโฟมให้ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ การบังคับให้แสดงฉลากที่ชัดเจน และการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้วัสดุย่อยสลายได้ อีกส่วนหนึ่งย่อมต้องอาศัยพลังจากผู้บริโภคเองที่จะต้องตื่นรู้และร่วมมือกันงดใช้ภาชนะโฟม ไม่เช่นนั้นก็รับประทานเมนู ‘ข้าวคลุกสไตรีน’ กันต่อไป

              โดย นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความรู้ว่า กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำ ๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene) มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง

              อาหารตามสั่งที่บรรจุกล่องโฟม จึงเป็นแหล่งสะสมสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อมง่ายหงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งอีก 3 ชนิด ถ้าเป็นผู้ชายรับประทานเข้าไปมาก ๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และทั้งสองเพศมีโอกาสสูงต่อการเป็นมะเร็งตับ แม้จะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็ตาม

              สำหรับสไตรีน ถือเป็นสารอันตรายที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นบัญชีสารก่อมะเร็ง หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในกล่องโฟม ลูกมีโอกาสสมองเสื่อมเป็นเอ๋อ อวัยวะบางส่วนพิการ  ส่วนคนทั่วไปถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า
              ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ง่ายถึง 5 ปัจจัยได้แก่

              1. อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง

              2. ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ

              3. ถ้าซื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก

              4. ถ้านำอาหารที่บรรจุโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก

              5. ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมาก ๆ รวมถึงร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว 

              นพ.วีรฉัตร กล่าวเตือนด้วยว่า อาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกงกับไข่ดาวหรือไข่เจียวร้อน ๆ อาจจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปด้วย ถึงกระนั้นไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนมีโอกาสวิ่งเข้าในเปลือกไข่ได้เช่นกัน  ถ้าเลือกไข่ดิบควรเลือกซื้อจากแผงไข่กระดาษจะปลอดภัยที่สุด

เคมีบำบัด และวิธีปฏิบัติเพื่อการดูแลรักษา

เคมีบำบัด คืออะไร
เคมีบำบัด หมายถึง การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง บางครั้งอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา สภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ป่วย
วิธีการให้ยาเคมีบำบัดแบ่งง่ายๆ เป็น 2 วิธี
•  ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน
•  ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
ระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำและกำหนดเวลา ตลอดจนเลือกยาที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย ความถี่ของการให้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาครั้งต่อไปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจท้อแท้ เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานของการรักษา ถ้าหากมีความกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล แพทย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้น ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตรงตามแพทย์นัด ให้ยาตรงตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบหรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนได้รับยาเคมีบำบัด
ด้านร่างกาย
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และเพิ่มการนอนพักในตอนกลางวัน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
  • ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ
ด้านจิตใจ
  • ควรทำอารมณ์ จิตใจ พร้อมรับการรักษา
  • ลดความกลัว ความวิตกกังวล
  • มั่นใจในวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งสามารถลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ถ้าท่านรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับโรค การดูแลรักษาตนเอง ควรปรึกษาแพทย์และพยาบาล
การดูแลตนเองขณะรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษา ถ้าผู้ป่วยร่วมมือด้วยการดูแลตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ควรดูแลตนเองดังนี้
  • สังเกตผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา ถ้ารู้สึกปวด บวม แดง หรือสงสัยมียารั่วซึมออกนอกหลอดเลือด ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับสารเคมีที่อาจตกค้างในร่างกายออกทางปัสสาวะ
  • ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้แจ้งพยาบาลทันที เพื่อรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
อาการที่ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การบำบัดรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นมากแล้ว ผลข้างเคียงบางประการถ้าไม่รักษาทันท่วงที อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น อาการไข้ ระหว่างที่เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจนำไปสู่อาการช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อาการสำคัญที่ควรปรึกษาแพทย์ พอสรุปได้ดังนี้
  • มีแผลในปากและคอ
  • ซึมลง ชัก หรือมีอาการเกร็งผิดปกติ
  • ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ( 101 องศาฟาเรนไฮต์)
  • ท้องผูกหรือท้องเดินอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลด หรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการบวมผิดปกติ
  • ไอ มีเสมหะ
  • เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก
  • เลือดออกง่าย หรือไม่หยุด หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีผื่นขึ้นตามลำตัว
  • มีอาการปวดท้องรุนแรง
  • คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
  • บริเวณให้ยา ปวดแสบ ปวดร้อน บวมแดง
  • มีการติดเชื้อเกิดขึ้น
การปฏิบัติตนระหว่างและหลังรับยาเคมีบำบัด
  • รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด กลิ่นฉุน ควรดื่มน้ำอุ่นๆ น้ำส้ม น้ำมะนาว
  • บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นๆ หรือน้ำเกลือเจือจางหลังรับประทานอาหารหรือหลังอาเจียนทุกครั้ง
เบื่ออาหาร
  • รับประทานอาหารย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง
  • ดูแลความสะอาดของช่องปากและฟัน
  • การออกกำลังกายเบาๆ ก่อนมื้ออาหาร 5-10 นาที
ท้องเสีย
  • งดอาหารประเภทของหมักดอง
  • รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่มีกาก
  • ดื่มน้ำเกลือแร่เสริม
  • ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข
อ่อนเพลีย ภาวะซีด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มการนอนพักกลางวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง
เยื่อบุช่องปากอักเสบ
  • รักษาความสะอาดในช่องปาก แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มๆ บ้วนปากด้วยน้ำหรือน้ำเกลือบ่อยๆ และหลังรับประทานอาหาร
  • รับประทานอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด
  • งดบุหรี่ เหล้า หมาก
  • ดื่มน้ำมากๆ
ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัด วัณโรค
  • รับประทานอาหารที่สุก สะอาด งดผักสด
  • สังเกตการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เจ็บคอ ปัสสาวะแสบขัด ให้รายงานแพทย์หรือพยาบาลทราบ
ผมร่วง
ยาเคมีบำบัดบางชนิด ทำให้ผมร่วงหมดศีรษะ แนะนำให้ซื้อวิกผมมาใส่ และเมื่อจบการรักษา ผมจะงอกขึ้นมาเป็นปกติ
โปรดระลึกไว้เสมอ : อาการข้างเคียงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดการรักษาอาการต่างๆก็จะหายไป
การปฎิบัติตนเมื่อกลับบ้าน
  • ท่านควรปฎิบัติตามคำแนะนำต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • กรณีมีอาการผิดปกติ เช่นมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ให้ติดต่อเพื่อนัดพบแพทย์ก่อนวันนัดเดิม
  • กรณีไม่มีอาการผิดปกติ ควรมาตรวจอย่างสม่ำเสมอตามวันและเวลาที่แพทย์นัด
ที่มา  _DeArNa_    http://webboard.yenta4.com/topic/234971