วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

เคมีบำบัด และวิธีปฏิบัติเพื่อการดูแลรักษา

เคมีบำบัด คืออะไร
เคมีบำบัด หมายถึง การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง บางครั้งอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา สภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ป่วย
วิธีการให้ยาเคมีบำบัดแบ่งง่ายๆ เป็น 2 วิธี
•  ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน
•  ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
ระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำและกำหนดเวลา ตลอดจนเลือกยาที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย ความถี่ของการให้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาครั้งต่อไปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจท้อแท้ เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานของการรักษา ถ้าหากมีความกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล แพทย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้น ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตรงตามแพทย์นัด ให้ยาตรงตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบหรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนได้รับยาเคมีบำบัด
ด้านร่างกาย
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และเพิ่มการนอนพักในตอนกลางวัน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
  • ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ
ด้านจิตใจ
  • ควรทำอารมณ์ จิตใจ พร้อมรับการรักษา
  • ลดความกลัว ความวิตกกังวล
  • มั่นใจในวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งสามารถลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ถ้าท่านรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับโรค การดูแลรักษาตนเอง ควรปรึกษาแพทย์และพยาบาล
การดูแลตนเองขณะรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษา ถ้าผู้ป่วยร่วมมือด้วยการดูแลตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ควรดูแลตนเองดังนี้
  • สังเกตผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา ถ้ารู้สึกปวด บวม แดง หรือสงสัยมียารั่วซึมออกนอกหลอดเลือด ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับสารเคมีที่อาจตกค้างในร่างกายออกทางปัสสาวะ
  • ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้แจ้งพยาบาลทันที เพื่อรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
อาการที่ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การบำบัดรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นมากแล้ว ผลข้างเคียงบางประการถ้าไม่รักษาทันท่วงที อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น อาการไข้ ระหว่างที่เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจนำไปสู่อาการช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อาการสำคัญที่ควรปรึกษาแพทย์ พอสรุปได้ดังนี้
  • มีแผลในปากและคอ
  • ซึมลง ชัก หรือมีอาการเกร็งผิดปกติ
  • ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ( 101 องศาฟาเรนไฮต์)
  • ท้องผูกหรือท้องเดินอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลด หรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการบวมผิดปกติ
  • ไอ มีเสมหะ
  • เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก
  • เลือดออกง่าย หรือไม่หยุด หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีผื่นขึ้นตามลำตัว
  • มีอาการปวดท้องรุนแรง
  • คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
  • บริเวณให้ยา ปวดแสบ ปวดร้อน บวมแดง
  • มีการติดเชื้อเกิดขึ้น
การปฏิบัติตนระหว่างและหลังรับยาเคมีบำบัด
  • รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด กลิ่นฉุน ควรดื่มน้ำอุ่นๆ น้ำส้ม น้ำมะนาว
  • บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นๆ หรือน้ำเกลือเจือจางหลังรับประทานอาหารหรือหลังอาเจียนทุกครั้ง
เบื่ออาหาร
  • รับประทานอาหารย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง
  • ดูแลความสะอาดของช่องปากและฟัน
  • การออกกำลังกายเบาๆ ก่อนมื้ออาหาร 5-10 นาที
ท้องเสีย
  • งดอาหารประเภทของหมักดอง
  • รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่มีกาก
  • ดื่มน้ำเกลือแร่เสริม
  • ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข
อ่อนเพลีย ภาวะซีด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มการนอนพักกลางวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง
เยื่อบุช่องปากอักเสบ
  • รักษาความสะอาดในช่องปาก แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มๆ บ้วนปากด้วยน้ำหรือน้ำเกลือบ่อยๆ และหลังรับประทานอาหาร
  • รับประทานอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด
  • งดบุหรี่ เหล้า หมาก
  • ดื่มน้ำมากๆ
ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัด วัณโรค
  • รับประทานอาหารที่สุก สะอาด งดผักสด
  • สังเกตการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เจ็บคอ ปัสสาวะแสบขัด ให้รายงานแพทย์หรือพยาบาลทราบ
ผมร่วง
ยาเคมีบำบัดบางชนิด ทำให้ผมร่วงหมดศีรษะ แนะนำให้ซื้อวิกผมมาใส่ และเมื่อจบการรักษา ผมจะงอกขึ้นมาเป็นปกติ
โปรดระลึกไว้เสมอ : อาการข้างเคียงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดการรักษาอาการต่างๆก็จะหายไป
การปฎิบัติตนเมื่อกลับบ้าน
  • ท่านควรปฎิบัติตามคำแนะนำต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • กรณีมีอาการผิดปกติ เช่นมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ให้ติดต่อเพื่อนัดพบแพทย์ก่อนวันนัดเดิม
  • กรณีไม่มีอาการผิดปกติ ควรมาตรวจอย่างสม่ำเสมอตามวันและเวลาที่แพทย์นัด
ที่มา  _DeArNa_    http://webboard.yenta4.com/topic/234971

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น